อ.เจษฎาตอบข้อสงสัย "การยืนขาเดียว" ระหว่างเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ไม่ได้ทำให้ปลอดภัย แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงถูกฟ้าผ่าและเป็นอันตรายได้อีกด้วย

วันที่ 18 มกราคม 2567 มีรายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า ถึงยืนขาเดียว แต่ถ้าโดนฟ้าผ่าตรงๆ ก็อันตรายครับ

มีคำถามมาจากทางบ้านเกี่ยวกับคลิปบรรยายเรื่อง "ฟ้าผ่า" คลิปหนึ่ง ที่พูดทำนองว่า ถ้าฟ้าผ่า แล้วเรายืนขาเดียว เราจะไม่ตาย แต่ถ้ายืนสองขา ก็จะตายได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอธิบายกันให้ละเอียดนะครับว่า การยืนขาเดียวมัน "ลด" ความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจาก "ไฟฟ้าที่วิ่งมาตามพื้น" หลังจากที่ผ่านวัตถุอื่น (เช่น ต้นไม้) แต่ถ้าเราโดนฟ้าผ่าตรงๆ ก็อันตรายสูงอยู่ดี

ในบรรดาความเชื่อ หรือความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับฟ้าผ่า เช่น การใส่เครื่องประดับเครื่องแต่งกายโลหะ จะล่อฟ้าผ่า, การใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างฝนตก จะล่อฟ้าผ่า,ใส่รองเท้าพื้นยาง จะป้องกันฟ้าผ่าได้, ฟ้าจะไม่ผ่าบริเวณเดียวกันซ้ำ 2 ครั้ง ก็มีเรื่องถ้ายืนขาเดียว ไฟฟ้าจากฟ้าผ่าจะไม่ผ่านร่างกายเรา เพราะร่างกายสัมผัสพื้นเพียงแค่จุดเดียว ทำให้ไฟฟ้าไม่ครบวงจร นี่อีกเรื่องหนึ่งที่เข้าใจผิดกันมาตลอดครับ (รวบรวมโดยเพจ distancecme)

จริงๆ แล้ว อันตรายที่เกิดจากฟ้าผ่าต่อร่างกายเรานั้น นอกจากการที่ถูกฟ้าผ่าโดยตรง (direct hit) กระแสไฟฟ้าไปทำให้หัวใจหยุดเต้น ระบบการหายใจหยุดทำงาน เกิดความร้อนสูงจนผิวหนังไหม้และบาดเจ็บกล้ามเนื้อ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้แล้วนั้น ยังมีอันตรายแบบอื่นๆ อีก ได้แก่

...

อันตรายจากการถูกฟ้าผ่าจากด้านข้าง (side strike) เมื่อฟ้าผ่าลงมาที่วัตถุหนึ่ง แล้วกระแสไฟกระโดดผ่านอากาศ เข้ามาสู่ร่างกายเรา เช่น ไปหลบอยู่ใต้ต้นไม้ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ที่จะถูกฟ้าผ่าเนื่องจากเป็นจุดที่สูงเด่น แล้วกระแสไฟกระโดดจากต้นไม้มาหาเรา / การถูกฟ้าผ่าใส่วัตถุที่เราสัมผัส (contact strike) เป็นกรณีที่ฟ้าผ่าลงวัตถุที่เรากำลังใส่อยู่หรือจับอยู่ เช่น ร่ม ไม้กอล์ฟ รั้วโลหะ

และอันตรายอีกแบบที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง "ยืนขาเดียว" ก็คือกรณีที่ฟ้าผ่าแล้วเกิดกระแสไฟฟ้าไหลตามพื้น (ground current) เช่น เมื่อฟ้าผ่าลงบนพื้นดิน หรือลงบนต้นไม้ กระแสไฟฟ้าจะไหลมาตามลำต้น แล้วแผ่กระจายออกไปตามพื้น (ยิ่งพื้นชื้นแฉะจากน้ำฝน กระแสไฟฟ้ายิ่งไหลไปได้ง่ายขึ้น) ถ้าบังเอิญเรายืนอยู่ตรงนั้น กระแสไฟที่วิ่งมาตามพื้นอาจไหลเข้าสู่ขาของเราข้างหนึ่ง วิ่งขึ้นไปตามร่างกาย และผ่านออกไปที่ขาอีกข้างหนึ่ง 

ซึ่งระดับของอันตรายจากไฟฟ้าไหลตามพื้นนั้น จะมากขึ้นตาม "ระยะก้าว (step)" ระหว่างขาทั้งสองข้าง และนี่ก็เป็นที่มาของคำสอนของลูกเสือ (ฝรั่ง) ว่า จงยืนขาเดียว เมื่อเกิดพายุ (แม้ว่าในชีวิตจริง มันจะเป็นเรื่องลำบากมาก ที่จะยืนขาเดียวไปเรื่อยๆ จนกว่าพายุจะสงบ)

ในทางฟิสิกส์ และวิศวกรรมไฟฟ้า อธิบายเรื่องนี้ด้วยคำว่า "แรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว (step voltage)" ซึ่งหมายถึง ความต่างศักย์ที่ตกคร่อมจุด 2 จุดของร่างกายของคนหรือสัตว์ .... ยิ่งจุด 2 จุดนี้ อยู่ห่างกันมากเท่าไร เช่น ยืนบนพื้นโดยที่เท้าทั้งสองแยกห่างจากกัน แรงดันไฟฟ้าช่วงก้าวก็จะมีค่าสูงมากขึ้นตามไปด้วย 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้จึงเกิดคำแนะนำขึ้นว่า ถ้าจำเป็นต้องไปอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งกลางสภาพฝนฟ้าคะนอง หาที่หลบฟ้าผ่าอย่าปลอดภัยไม่ได้ ก็ควรนั่งยองๆ ขยับเท้าให้ชิดกัน มือปิดหู จะปลอดภัยกว่าการนอนราบลงกับพื้น ตามที่เคยเชื่อกันมาก่อนนี้

เพราะการนั่งยอง-เท้าชิด จะช่วยลดแรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว ที่เกิดขึ้นจากกระแสไฟฟ้าที่ไหลมาตามพื้นดิน ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ขณะที่การนอนราบกับพื้นนั้น จะยังคงทำให้มีจุดแตะพื้น 2 จุดห่างกัน และทำให้แรงดันไฟฟ้าช่วงก้าวมีค่ามากกว่าท่านั่งยอง-เท้าชิด) 

ส่วนการยืน (ไม่ว่าจะยืนขาเดียวหรือสองขา) เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากเป็นการทำให้ตัวเราสูงเด่น มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่ามากขึ้น แถมยังอาจได้รับอันตรายจากสิ่งของต่างๆ ที่ปลิวมากับลมแรง ขณะที่ท่านั่งยองๆ จะทำให้ตัวเตี้ยลงและมีพื้นที่เล็กที่สุด ... ส่วนที่ต้องปิดหูนั้น ก็เพื่อป้องกันอันตรายจากเสียงดังที่เกิดขึ้น หากมีฟ้าผ่าใกล้ๆ ตัวเรา

และถ้าเราถูกฟ้าผ่าโดยตรง (direct hit) การยืนขาเดียวหรือสองขา ก็ได้รับอันตรายทั้งคู่อยู่ดี เนื่องจากจริงๆ แล้ว เมื่อเกิดฟ้าผ่าขึ้นนั้น มันจะเป็นเรื่องของประจุไฟฟ้าลบ (negative charge) ซึ่งสะสมอยู่ตรงฐานของก้อนเมฆพายุฝน หรือเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus cloud) ที่วิ่งลงสู่พื้นดิน มาหาประจุไฟฟ้าบวก (positive charge) ที่พื้น

ซึ่งกระแสของประจุอิเล็กตรอนนี้ จะพุ่งไปในทิศทางที่มีความต้านทานต่ำที่สุด หรือเป็นระยะทางที่สั้นที่สุดจากเมฆมาสู่ดิน การยืนขาเดียวหรือยืนสองขาจึงไม่ได้มีผลแตกต่างกัน ในเรื่องความสูงของร่างกายเรา ที่จะทำให้ระยะห่างจากเมฆมาถึงขาของเราแตกต่างกัน

โดยสรุปแล้ว การยืนขาเดียวระหว่างที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้เราปลอดภัย แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงถูกฟ้าผ่าและเป็นอันตรายได้ สิ่งที่ควรจะทำ คือ ควรจะหลีกเลี่ยงการออกไปอยู่กลางแจ้ง ระหว่างเกิดฝนฟ้าคะนอง ควรหลบอยู่ในอาคารที่แข็งแรงทนต่อการถูกฟ้าผ่าได้ (หรือมีระบบสายล่อฟ้า หรือแม้แต่ในรถยนต์) และถ้าหาที่หลบไม่ได้จริงๆ ก็ใช้วิธีนั่งยองๆ เท้าชิดกัน เพื่อลดแรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว ที่อาจไหลมากับพื้นดินที่ถูกฟ้าผ่าข้างเคียง.

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์.