ศูนย์จีโนมฯ เตือนจับตา โอมิครอน JN.1 หลังพบกลายพันธุ์บริเวณหนามเพิ่มเป็น 2 ตำแหน่ง ขณะนี้พบแล้วทั่วโลกจำนวน 41 ราย แต่ยังไม่พบในไทย

วันที่ 15 มกราคม 2567 แฟนเพจ Center for Medical Genomics ของ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความว่า เตรียมพร้อมเผชิญกับโอมิครอน JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพิ่มเติมจาก 1 ตำแหน่ง กลายเป็น 2 ตำแหน่งในรูปแบบ "SLip (L455S+F456L)"

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมที่แชร์บนฐานข้อมูลโควิด-19 โลก "จีเสส (GISAID)" โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายสถาบันการแพทย์ต่างๆ พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์ EG.5.1* ประมาณ 244 ราย และ JN* ประมาณ 15 ราย คาดว่า JN* จะระบาดเข้ามาแทนที่ EG.5.1* ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักของไทยในขณะนี้

โอมิครอนในสายของ EG.5.1* มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามสองตำแหน่งติดกันคือ "L455F" และ "F456L"  มักเรียกการกลายพันธุ์แบบนี้ว่า "FLip" ส่งผลต่อความสามารถของไวรัสในการจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ได้ดีขึ้น พร้อมกับหลบเลี่ยงการเข้าจับและทำลายจากแอนติบอดีที่ผลิตโดยระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จากการรับการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ

อนึ่งการกลายพันธุ์บริเวณหนามของ L455F หมายถึงมีการแทนที่กรดอะมิโนลิวซีน (L) ด้วยฟีนิลอะลานีน (F) ที่ตำแหน่ง 455 ในขณะที่การกลายพันธุ์ของ F456L เกี่ยวข้องกับการแทนที่ของฟีนิลอะลานีน (F) ด้วยลิวซีน (L) ที่ตำแหน่ง 456

โอมิครอนในสายของ JN* เดิมมีการกลายพันธุ์บริเวณหนาม "เพียงตำแหน่งเดียวคือ L455S" แต่ก็ส่งผลให้มีการระบาดไปทั่วโลกและเข้ามาแทนที่ EG.5.1 ซึ่งเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของ XBB ในสหรัฐอเมริกา JN.1 กลายเป็นสายพันธุ์หลัก 61.6% ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่ระบาด (6 ม.ค. พ.ศ. 2567) จากนั้นในเดือนมกราคม 2567 เช่นเดียวกันพบ JN* (JN.1, JN.1.1, JN.1.1.1) มีการกลายพันธุ์เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่ง รวมเป็นสองตำแหน่งคือ L455S และ F456L พบผู้ติดเชื้อรายแรกในฝรั่งเศส

...

ขณะนี้พบแล้วทั่วโลกจำนวน 41 ราย เรียกการกลายพันธุ์แบบนี้ว่า "SLip" ยังไม่แน่ชัดว่าสายพันธุ์ JN* ที่พบการกลายพันธุ์แบบ SLip mutation จะส่งผลให้มีการระบาดที่รวดเร็วและเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้นไปจาก JN.1 สายพันธุ์เดิมที่ส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เพียงตำแหน่งเดียว (L455S) หรือไม่ ในประเทศไทยยังไม่พบโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์แบบ SLip 

ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา รพ. รามาธิบดี กำลังเฝ้าติดตามสายพันธุ์ JN* ที่พบการกลายพันธุ์แบบ SLip mutation ในบรรดาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย

หมายเหตุ การกลายพันธุ์แบบ "SLip" คล้ายกับ "FLip" แต่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของซีรีน (S) แทนที่จะเป็นฟีนิลอะลานีน (F) บริเวณส่วนหนามที่ตำแหน่ง 455 ส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในรูปแบบ L455S และ F456L.