กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยความสำคัญของภารกิจสำรวจ "วาฬโอมูระเผือก" เป็นเรื่องท้าทายมากในการอนุรักษ์ จึงจำเป็นต้องทุ่มเทค้นหาเพื่อเก็บข้อมูล
วันที่ 8 มกราคม 2567 มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เผยความสำคัญของ "ภารกิจการสำรวจวาฬโอมูระเผือก" โดยระบุว่า อาจฟังดูเป็นเรื่องตื่นเต้นที่มีการพบวาฬโอมูระเผือก (Balaenoptera omurai) เพราะมีความโดดเด่น แปลกตา ซึ่งอาจเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องของวาฬและการอนุรักษ์มากขึ้น
แต่ในเชิงชีววิทยาการพบลักษณะเผือก (Albino) เป็นสิ่งไม่ดีนัก เนื่องจากเป็นการแสดงออกของยีนด้อยที่ชื่อ Tyrosinase gene มีผลทำให้การสร้าง Melanin น้อยกว่าปกติหรือสร้างไม่ได้เลย ลักษณะเผือกมักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกับสัตว์ เช่น ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดมากขึ้น มีปัญหาเรื่องการมองเห็น และเป็นจุดสนใจของผู้ล่า
ภาวะเผือกสามารถพบได้ ทั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ในกลุ่มโลมาและวาฬ มีรายงานยืนยันภาวะเผือก เช่น วาฬหลังค่อม (Megaptera novaeangliae) ที่ออสเตรเลีย วาฬหัวทุย (Physeter macrocephalus) ที่โปรตุเกส วาฬเพชฌฆาต (Orcinus orca) ที่รัสเซีย และวาฬริสโซ่ (Grampus griseus) ที่อเมริกา
วาฬโอมูระ ได้รับขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน โดยเหตุผลที่สำคัญ คือจำนวนประชากรในประเทศไทย น้อยกว่า 50 ตัว และเป็นสัตว์ทะเลประจำถิ่น ที่พบแพร่กระจายเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อดูจากแผนที่การแพร่กระจาย และภูมิศาสตร์ กลุ่มวาฬโอมูระฝั่งทะเลอันดามัน มีแนวโน้มแยกตัวจากกลุ่มประชากรหลัก ทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลจีนใต้
...
ทำให้เชื่อว่าประชากรวาฬโอมูระฝั่งอันดามัน มีจำนวนประชากรน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการผสมกันเองมากขึ้น ส่งผลต่อการเกิดสภาวะเผือก ทำให้การอนุรักษ์มีความยาก และท้าทายมากในการรักษากลุ่มประชากรโอมูระเฉพาะถิ่นฝั่งทะเลอันดามัน
การหาคำตอบของจำนวนประชากร การแพร่กระจาย สุขภาพ ความสัมพันธ์กับกลุ่มประชากรอื่น ตลอดจนภัยคุกคาม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการวางแผน และดำเนินการอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราต้องทุ่มเททุกอย่างที่มี เพื่อให้ได้ข้อมูลเหล่านี้
ข้อมูลดีเอ็นเอจากวาฬโอมูระเผือก และวาฬโอมูระตัวอื่นๆ จะช่วยให้นักวิจัยทราบถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตลอดจนการไปมาหาสู่กับกลุ่มประชากรในอีกฝากฝั่งทะเล เป็นสิ่งที่รอการพิสูจน์ให้ชัดเจน และหากข้อสมมติฐานของการแยกกลุ่มประชากรย่อยเป็นจริง นั่นคือความรับผิดชอบที่เราต้องรักษากลุ่มประชากรหนึ่งเดียวของโลกนี้ไว้ ข้อความจาก ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง.
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง