หรือเข็มกลัดไม่ชัดพอ สาวท้องตัดพ้อ ขึ้นรถไฟฟ้าหลายสถานีแต่เจอชายไร้น้ำใจ ไม่ยอมสละ "ที่นั่งพิเศษ" ให้ ทำโซเชียลแห่คอมเมนต์สนั่น

วันที่ 4 มกราคม 2567 กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความระบุว่า ขอบคุณที่นั่งสำหรับ คนพิการ พระสงฆ์ และ คนท้อง (ที่ไม่ได้นั่งเลย ยืนตลอดสาย) ตั้งแต่ BTS แบริ่ง - อโศก และเป็นวันที่ 03/01/67 เป็นวันที่คนเริ่มกลับมาทำงาน และบน BTS ผู้คนแน่นมากๆ แต่สำหรับคนท้องที่มีที่นั่งพิเศษ แต่กลับไม่ได้นั่ง 

ส่วนคนที่แข็งแรงและเป็นผู้ชาย แหงนหน้ามามองหลายรอบมาก แต่กลับนิ่งเฉย (ฉันยืนเหงื่อแตก ตาลาย ไหนมือหนึ่งจะเกาะเสา ไหนอีกมือจะควานหายาดมในกระเป๋า (แทบล้มตอนขบวนออกตัว) แต่เขาก็ยังนั่งมองฉันเฉยๆ แบบไม่มีจิตสำนึกอะไรเลย 

ผู้คนในบีทีเอสต่างมองเขากัน แต่เขาก็ยังทำตัวนิ่งเฉย เริ่มไม่เข้าใจแล้วว่าที่นั่งสำหรับคนท้อง คนพิการ พระสงฆ์ ติดป้ายยังไม่ชัดเจนใช่ไหม หรือเข็มกลัดที่ท้องเรา มันเห็นไม่ชัดใช่ไหม (ทั้งๆ ที่มันอยู่ตรงหน้าคุณแท้ๆ) #BTS #ที่นั่งคนพิการ #ที่นั่งพระสงฆ์ #ที่นั่งคนท้อง 

ซึ่งหลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ต่างก็มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นใจเจ้าของโพสต์ และกล่าวตำหนิผู้โดยสาร ที่ไม่ยอมสละที่นั่งให้ ทั้งยังแชร์ประสบการณ์ว่า ตอนตนเองท้อง ก็เคยเจอในลักษณะแบบนี้เช่นเดียวกัน

ขณะที่อีกฝ่ายกลับมองต่าง พร้อมให้เหตุผลว่า บางครั้งคนนั่งอยู่อาจจะไม่รู้ว่าเจ้าของโพสต์ท้อง หรือเห็นว่าไม่มีการเรียกร้องจะนั่ง จึงไม่ได้ลุกให้ ทั้งนี้ก็มีคนบอกอีกว่า มันเป็นเรื่องปกติ เพราะบางคนเขาอาจจะเมื่อย หรือเหนื่อย แล้วไม่อยากลุกขึ้น เพราะจุดหมายปลายทางอาจอยู่ไกล หรือคิดว่าจ่ายเงินเท่ากันแล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียสละให้ก็ได้ 

...

สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้น สาวเจ้าของโพสต์ได้เปิดใจกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ระบุว่า เวลาเกิดเหตุ 09.00 น. โดยประมาณ เธอต้องเดินทางคนเดียว เพราะต้องใช้ BTS ในการเดินทางไปทำงานทุกๆ วัน ตั้งแต่ก่อนท้องแล้ว พอท้องก็ขึ้นปกติ ส่วนมากจะขึ้น BTS เพราะสะดวกในการเดินทางไปทำงาน ถ้าเกิดวันไหนแฟนหยุดงาน แฟนก็ขับรถไปรับส่งตลอด เหตุการณ์นี้เจอบ่อยมากๆ คนพิการไม่ได้นั่ง คนชราไม่ได้นั่ง เด็กเล็กต้องยืนเกาะเสา เรื่องพวกนี้มันควรลดน้อยลงได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าบีทีเอส เคยได้อธิบายถึงความหมายของ ที่นั่งสำหรับสำหรับบุคคลพิเศษ (Priority Seat) โดยระบุไว้ว่า ที่นั่งพิเศษ (Priority Seat) รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ติดตั้งสัญลักษณ์บนที่นั่งสำรองให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ที่นั่งจะอยู่ใกล้กับประตูเข้า-ออก ทั้ง 2 ฝั่ง เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วย พระสงฆ์ นักบวช และบุคคลที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน

สำหรับบุคคลทั่วไป สามารถนั่งที่นั่งพิเศษได้ แต่โปรดงดใช้มือถือ หมั่นสังเกตคนรอบข้าง และพร้อมสละที่นั่งทันที เมื่อมีผู้ที่มีความจำเป็นเข้ามาในขบวนรถ ผู้โดยสารที่นั่งที่สำรอง หากโดนสะกิดขอที่นั่งได้ โปรดให้ความร่วมมือ และสละที่นั่งให้ทันที ที่นั่งอื่นๆ ก็สามารถเป็นที่นั่งพิเศษได้ เพียงผู้โดยสารทุกคนเสียสละให้กัน

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก รถไฟฟ้าบีทีเอส