เปิดรายละเอียด สำนักงาน ก.พ. รับสมัครสอบ ภาค ก. ประจำปี 2567 ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Exam) เริ่ม 10 ม.ค. 2567 พร้อมเปิดให้กรอกข้อมูลล่วงหน้า

ใครที่กำลังเตรียมตัวสมัครสอบ ก.พ. ประจำปี 2567 ล่าสุด สำนักงาน ก.พ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้เปิดรับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Exam) ประจำปี 2567

โดยเปิดรับสมัครสอบระดับปริญญาตรี และปริญญาโท รวมทั้งสิ้น 161,440 ที่นั่งสอบ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2567 เวลา 08.30 น. (จนกว่าที่นั่งสอบจะเต็ม) กรณีไม่เต็มจำนวน จะปิดรับสมัครในวันที่ 30 มกราคม 2567 (ไม่เว้นวันวันหยุดราชการ) 

นอกจากนี้ ทางสำนักงาน ก.พ. ยังได้เปิดให้ผู้ที่สนใจ "กรอกข้อมูลล่วงหน้า" ก่อนสมัครสอบภาค ก. ปี 2567 ทั้งการสอบแบบ Paper & Pencil และ e-Exam ผ่านทางเว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2567 

...

สอบ ก.พ. คืออะไร 

การสอบ ก.พ. คือ การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานให้หน่วยงานราชการ ซึ่งจะมีการจัดสอบเป็นประจำทุกปี มีทั้งแบบ Paper & Pencil และ e-Exam เรียกได้ว่า การสอบ ก.พ. ถือเป็นด่านแรกของผู้ที่สนใจเข้าสู่อาชีพสายงานราชการ โดยแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ

  • สอบภาค ก. (วัดความรู้ความสามารถทั่วไป)
  • สอบภาค ข. (วัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง)
  • สอบภาค ค. (วัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง)

สำหรับขั้นตอนการกรอกข้อมูลล่วงหน้า

1. เข้าเว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th เลือกเมนู "ระบบกรอกข้อมูลส่วนบุคคลล่วงหน้า เพื่อเตรียมการสอบ ภาค ก. ปี 2567 ของสำนักงาน ก.พ."

2. อ่านรายละเอียด วัตถุประสงค์

3. กรอกข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนให้ถูกต้องครบถ้วน

4. กรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็น และตรวจสอบความถูกต้องก่อนกด บันทึกข้อมูล

อย่างไรก็ตาม หากผู้กรอกข้อมูลล่วงหน้าได้เปลี่ยนชื่อ-สกุล หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนในระหว่างนี้ จะต้องทำการยืนยันข้อมูลส่วนตัวใหม่)

ทั้งนี้ "การกรอกข้อมูลล่วงหน้า" ไม่ใช่การสมัครสอบแต่อย่างใด แต่เป็นการทำเพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ที่สนใจสมัครสอบ ภาค ก. ปี 2567 และเพื่อตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลผู้สอบผ่านภาค ก. ก่อนการรับสมัครจริง ซึ่งมีข้อดี ดังนี้

1. ตรวจสอบสถานะใบผ่านภาค ก. ของตนเองได้ก่อนวันรับสมัครจริง

2. การสมัครสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว

3. ช่วยลดความหนาแน่นในการเข้าเว็บไซต์ในวันรับสมัครสอบจริง

แต่ก่อนจะลงมือสมัครจริงนั้น ก่อนอื่นจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของ "ผู้มีสิทธิสมัครสอบ" เสียก่อนว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน หรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ดังนี้

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบ

1. ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว หรือเป็นผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2567 ระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในทุกสาขาวิชา

2. ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยสอบผ่าน หรือไม่มีหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ ความสามารถทั่วไประดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ของสำนักงาน ก.พ.

3. ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดังต่อไปนี้

คุณสมบัติทั่วไป

  • มีสัญชาติไทย
  • มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี (นับถึงวันปิดรับสมัครสอบ)
  • เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ลักษณะต้องห้าม

1. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

2. เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.

3. เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น

4. เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม

5. เป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง

6. เป็นบุคคลล้มละลาย

7. เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

8. เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

9. เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น

10. เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น

11. เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบข้ารับราชการ หรือเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ.