สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดภาพ กระจุกดาวต้นคริสต์มาส ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งเป็นภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย

วันที่ 25 ธ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจ "NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เปิดภาพถ่ายของ กระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster) หรือ NGC 2264 ซึ่งเป็น ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย

พร้อมอธิบายว่า NGC 2264 ประกอบด้วยเนบิวลาแบบเรืองแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่ และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่มีดาวฤกษ์อายุน้อยที่มีมวลน้อยไปจนถึงดาวฤกษ์มวลมากกว่า 7 เท่าของดวงอาทิตย์ ทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก

ด้วยลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวนั้นดูเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายกับต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า Christmas Tree Cluster มีดาวแปรแสงชื่อ เอส โมโนซีโรทิส (S Monocerotis) หรือ 15 โมโนซีโรทิส (15 Monocerotis) อยู่บริเวณตำแหน่งลำต้นของต้นคริสต์มาส ในขณะที่ดาวแปรแสงอีกดวงหนึ่งซึ่งเป็นดาวยักษ์สีน้ำเงินชื่อ V429 โมโนซีโรทิส (V429 Monocerotis) อยู่บริเวณตำแหน่งยอดต้นไม้ เหนือขึ้นไปจะเห็นเนบิวลามืดสีแดงคล้ำรูปแท่งกรวย เรียกว่า เนบิวลารูปโคน (Cone Nebula)

สำหรับเนบิวลารูปโคน และบริเวณโดยรอบกระจุกดาว คือก้อนแก๊สไฮโดรเจนขนาดใหญ่ เฉพาะส่วนที่เป็นรูปโคนคือก้อนแก๊สและฝุ่นในอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำ แก๊สและฝุ่นเหล่านี้ดูดซับแสงเรืองของดวงดาว และเนบิวลาที่อยู่ฉากหลังทำให้มันดูมีสีคล้ำกว่า ส่วนนี้มีความกว้างประมาณ 7 ปีแสง สำหรับโครงสร้างรูปกรวยนั้นมีลักษณะคล้ายกับแท่นเสาแห่งการกำเนิด (Pillar of Creation) ที่อยู่ในบริเวณเนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula หรือ M16) บริเวณกลุ่มดาวงู (Serpens) ส่วนปลายโคนมีกระจุกดาวเปิดประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยแต่สว่างกลุ่มหนึ่ง เรียงตัวในรูปแบบที่คล้ายผลึกหิมะ บางครั้งจึงเรียกว่า สโนว์เฟลคคลัสเตอร์ (Snowflake Cluster)

โดยภาพนี้บันทึกและประมวลผลภาพโดย คุณตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ และคุณกีรติ คำคงอยู่ ใช้กล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของ NARIT ติดตั้ง ที่หอดูดาวสปริงบรู๊ค ประเทศออสเตรเลีย.

...

ที่มาจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ