หนุ่มใหญ่ซื้อปลาทูจากตลาดมาทอด กำลังแทะหัวปลา เจอตัวปริศนาลักษณะคล้ายเห็บตัวใหญ่สีออกขาวนวล ทำเอาเลิกอยากกินปลาทู
วันที่ 20 ธันวาคม 2566 มีรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความว่า "มันคือตัวอะไรอยู่ในปลาทู ใครรู้บอกที" พร้อมกันนี้ได้โพสต์คลิปวิดีโอ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นสัตว์ หรือแมลงชนิดใด คล้ายหนอนตัวสีขาวนวล แต่มีตาและเขี้ยว รวมทั้งมีขาเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้เวลาต่อมา ทราบว่าผู้โพสต์คือ นายโกศล แซ่แต้ อายุ 51 ปี เจ้าของร้านตี๋หม้อน้ำ หมู่บ้านเมืองใหม่พ่อขุน เลขที่ 124/53 ม.3 ต.หนองไขว่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ตนซื้อปลาซื้อปลาทูมา 1 แพ็ก มี 2 ตัว โดยซื้อมาจากตลาดสดเพื่อทอดรับประทานตามปกติเป็นประจำ เนื่องจากเป็นคนที่ชอบกินปลาทูทอด โดยเฉพาะการแทะหัวปลาทู
แต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ทอดปลาทูทั้ง 2 ตัว ช่วงเช้ากินไป 1 ตัว และอีก 1 ตัวเก็บไว้ และนำมากินตอนเที่ยง ขณะที่กำลังอร่อยกับการกินปลาทูมื้อเที่ยงจนเกือบหมดตัวอยู่นั้น มีชิ้นหนึ่งหลุดจากมือตกลงไปในจาน ตนนึกว่าเป็นเนื้อปลา เพราะสีขาวคล้ายเนื้อปลา กำลังจะหยิบเข้าปาก สังเกตว่ามีรูปร่างแปลกๆ จึงได้นำไปล้างน้ำ จึงพบว่าเป็นตัวชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายเห็บตัวใหญ่สีออกขาวนวล มีตา 2 ข้าง มีเขี้ยว และมีขาเป็นจำนวนมาก ทำเอาชะงัก และต้องหยุดกินทันที จากนั้นจึงได้เอาโทรศัพท์มาถ่ายคลิปโพสต์ลงเฟซบุ๊กเพื่อสอบถาม เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย
...
หลังจากนั้นก็มีคนเข้ามาคอมเมนต์ และทักแชตมาจำนวนมาก บ้างก็ว่าคล้ายเห็บ บ้างก็ว่าเป็นตัวปรสิต บางคนก็ว่าตัวอ่อนแมลงสาบ บางคนก็ได้ค้นคว้าข้อมูลมาพูดคุยให้ข้อมูลเกี่ยวกับแมลงปริศนาดังกล่าวว่า ส่วนใหญ่มักจะเจอตัวนี้ในหัวปลา แต่ถ้าจะเจอบ่อยๆ คงต้องเป็นหัวปลาทู ตัวนี้เรียกว่า "ไอโซพอด" เป็นปรสิตในปลาทะเล บางคนก็กิน บางคนก็เขี่ยออก หน้าตาอาจจะดูน่าเกลียด แต่ไม่มีอันตราย ก็ทำให้เลิกอยากกินปลาทูไปอีกนาน และได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่าก่อนจะทานปลา หรือสิ่งใด ก็ควรดูให้รอบคอบเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง
สำหรับ "ไอโซพอด (isopod)" เป็นสัตว์จำพวกครัสเตเชียน กลุ่มที่มีความหลากหลายมากที่สุดชนิดหนึ่ง พบอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ เป็นสิ่งมีชีวิตที่คอยกินสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว และย่อยสลายสารอินทรีย์ (Detritivores) จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อการย่อยสารอินทรีย์ในระบบนิเวศ รู้จักกันในชื่อว่า “ตัวกัดลิ้น” (Tongue biter) สัตว์ในกลุ่มไอโซพอดจัดว่าเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่พบฟอสซิลตั้งแต่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส ซึ่งแตกต่างเพียงเล็กน้อยไปจากกลุ่ม Phreatoicidean ยุคใหม่ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทางซีกโลกใต้.