อ.เจษฎ์ชี้ กระทงที่ทำจาก ใบตองกาบกล้วย กระทงขนมปัง กระทงอาหารปลา หากไม่เก็บขึ้นมาหลังลอยสุดท้ายก็จะกลายเป็น "ขยะกระทง"
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 มีรายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุว่า ย้ำอีกครั้ง "กระทงใบตองกาบกล้วย กระทงขนมปัง กระทงอาหารปลา ฯลฯ" ล้วนแล้วแต่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ทั้งนั้น
มีหลังไมค์จากทางบ้านมาบ่นให้ฟังว่า คุณครูให้หาอุปกรณ์มาทำกระทง โดยเน้นพวกไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วส่งรูปหยวกกล้วย ใบพืชต่างๆ รวมทั้งขนมปัง มาให้ ... ทำเอาเค้าช็อกไปกับคำตอบ
ก็เลยต้องขอเน้นย้ำกันบ่อยๆ อีกครั้ง ก่อนวันลอยกระทงปีนี้ว่า กระทงจากวัสดุธรรมชาติต่างๆ นั้น ก็ทำลายสิ่งแวดล้อมครับ ถ้าไม่ได้เก็บขึ้นมาให้หมดหลังลอยแล้ว ก็จะกลายเป็น "ขยะกระทง" ตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ลำคลอง-แม่น้ำ-จนถึงทะเล อยู่ดีครับ ... แถมกระทงขนมปังเนี่ย ถ้าปลากินไม่หมด ก็ยิ่งจะกลายเป็นมลพิษ ทำให้น้ำเน่าเสียได้อย่างรวดเร็วด้วย
นับเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก สำหรับคนที่คิดว่า "กระทงขนมปัง" ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะแท้จริงแล้ว กระทงขนมปัง กลับเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำ ไม่น้อยไปกว่ากระทงในรูปแบบอื่นๆ เลย ซึ่งมีปัญหามากพออยู่แล้ว กับเรื่องการจัดเก็บกระทงหลังลอยเสร็จ
ขอเอาความเห็นของ อาจารย์ธนัสพงษ์ โภควนิช อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาอธิบายเสียเรื่อง "การจัดเก็บกระทงที่ไม่ครอบคลุม ทำให้การลอยกระทงสร้างมลพิษทางน้ำ-ทำลายระบบนิเวศต่อปลาทะเล" ดังเนื้อหาด้านล่างนี้นะครับ
...
- แหล่งน้ำต่างๆ นั้น มีข้อจำกัดในการรับขยะของเสีย ได้แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น พวกแม่น้ำเส้นหลักของไทย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำท่าจีน จะมีการไหลของน้ำค่อนข้างแรง ทำให้การจัดเก็บกระทงทำได้ค่อนข้างยาก มีกระทงตกหล่นจากการจัดเก็บ
- กระทงที่ไหลไปตามแม่น้ำ จะถูกพัดไปออกสู่ทะเล ไปติดตามชายฝั่งทะเล กลายเป็นขยะพิษต่อสัตว์น้ำในทะเล ในที่สุด
- เมื่อเทียบเคียงวัสดุในการทำกระทง พบว่ากระทง “ขนมปัง” ยากต่อการจัดเก็บมากที่สุด เพราะเมื่อลอยไปสักพัก ขนมปังเหล่านี้จะเปื่อยยุ่ยและจมลงสู่ก้นแม่น้ำ ก่อนที่ปลาจะกิน ถ้าลอยกระทงขนมปังลงแม่น้ำพร้อมกันหลายสิบ หลายร้อยใบ ก็เหมือนกับการทิ้งขยะลงแม่น้ำ ทำให้ปลาตาย แหล่งน้ำเน่าเสีย
- หลังการลอยกระทง จะเกิดภาวะ "Hypoxia" หรือภาวะพร่องออกซิเจน ในแม่น้ำ เมื่อขนมปังหรือผักผลไม้ที่ลอยลงไป มีปริมาณมากเกินกว่าที่ปลาในแม่น้ำจะกิน แล้วจมลงสู่แม่น้ำพร้อมๆ กัน เศษอาหารเหล่านี้จะเน่าเสีย เปื่อยยุ่ย ทำให้ปริมาณออกซิเจนในแม่น้ำต่ำลง
- ไม่ใช่แค่ปลาที่ได้ผลกระทบ แต่บรรดาสัตว์พื้นน้ำชนิดอื่นๆ ที่ไม่สามารถขึ้นมาหายใจรับออกซิเจนบนผิวน้ำ (ได้แบบปลาทำ) จะยิ่งได้รับผลกระทบหนัก ท้ายที่สุด คือทำให้ระบบนิเวศเสียหาย จนยากจะรักษาให้กลับมาดีดังเดิมได้
- ไม่ใช่ปลาทุกชนิดที่ชอบกินขนมปัง หากในน้ำ มีปลาชนิดกินพืช มันก็จะกินขนมปังได้ แต่ถ้าในแม่น้ำเป็นปลากินเนื้อ ขนมปังที่เราลอยไปก็จะกลายเป็นเพียงแค่ขยะในแม่น้ำ ซึ่งพันธุ์ปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำที่เราคุ้นเคย อย่างปลาช่อน ปลาดุก ปลากะพง ล้วนเป็นปลากินเนื้อทั้งสิ้น
- หากถามว่า ลอยกระทงด้วยวัสดุแบบไหน จึงจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คำตอบคงไม่ใช่ขนมปัง ผักผลไม้ หรือใบตอง
- แต่ต้องกลับไปที่ขั้นตอนการจัดเก็บกระทง ว่าทางเขตรับผิดชอบแต่ละจังหวัด มีการวางแผนการจัดเก็บกระทง เพื่อป้องกันกระทงทะลักสู่ชายฝั่งทะเลอย่างไรบ้าง
- ถ้าประเพณีนี้ยังดำเนินต่อไป ด้วยเหตุและผลของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-ดึงดูดนักท่องเที่ยว ก็คงต้องทบทวนถึงมาตรการป้องกันความเสียหายต่างๆ อย่างรอบด้าน ว่าเม็ดเงินจากเทศกาล ที่หลั่งไหลเข้ามานั้น คุ้มค่ากับผลกระทบที่ตามมาหรือไม่
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์