นพ.สุรพงษ์ แจงชัดเงื่อนไขผู้มีสิทธิ์ ได้รับดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท คนหัวใส ถอนเงินจากบัญชีตอนนี้ทันไหม มนุษย์เงินเดือน รายได้นับรวมค่าโอที หรือคอมมิชชันหรือไม่

วันที่ 10 พ.ย. 66 ในรายการ NewsRoom วันนี้ เป็นการพูดคุยในประเด็น การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คนไทย 50 ล้านคน กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย อดีตรองนายกฯ และ อดีต รมว.กระทรวงการคลัง หลังจากที่รัฐบาล ประกาศเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้มีสิทธิรับดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 

เมื่อถามถึงหลักเกณฑ์ที่ประกาศออกมา นพ.สุรพงษ์ เปิดเผยว่า เกณฑ์ที่ประกาศออกมา ณ วันนี้ คิดจากสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจจะต่างจากเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อคิดย้อนกลับไป ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องมีการเติมเงินในกระเป๋าให้ประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อให้สามารถคืนชีพเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องพ่วงไปกับการลดรายจ่ายของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน ไฟฟ้า พักหนี้เกษตรกร ซึ่งก็เป็นแพ็กเกจที่นำไปสู่การที่ว่า เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหน

ต่อข้อถามเรื่องเงื่อนไขของผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ ต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และหรือมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท ถ้าบางคนบอกว่า ถอนเงินออกมาก่อน ยังได้เงินหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ เผยว่า เท่าที่ถามรายละเอียดคิดว่า น่าจะย้อนหลังไปช่วงสิ้นเดือนตุลาคม ก่อนจะแถลง เพื่อป้องกันการไปถอนออก ซึ่งตัวเลขคนที่เข้าเกณฑ์จะอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งตัวเลขที่เราพบต่อจากนั้น น่าตกใจมาก คือ คนที่มีเงินเดือนมากกว่า 7 หมื่นบาทนั้น มีเพียง 1.3 ล้านคน จาก 54 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าไม่พอต่อการที่จะทำให้ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ หรือคนที่บอกว่า มีเงินสะสมมากกว่า 5 แสน ประมาณ 3.5 ล้านคน 

...

เมื่อถามถึงเงินเดือนว่า รวมค่าอย่างอื่นหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ดูจากฐานเงินเดือนของแต่ละคนเพียงอย่างเดียว เพราะรายได้อื่นๆ อย่างโอที หรือคอมมิชชันนั้น ต้องยอมรับว่า เป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนในแต่ละเดือน

ต่อข้อถามคนที่มีสิทธิ์รับดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พระ เณร นักโทษ บุคคลล้มละลาย หรือคนเคยรวย มีสิทธิ์ได้หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ ตอบว่า เวลาที่คำนวณตัวเลขของคนนั้น จะคำนวณ ณ ปัจจุบัน โดยไม่ได้มองว่า เป็นพระ หรือเคยล้มละลาย แม้เคยล้มละลาย แต่วันนี้มีเงินเดือนเกิน 70,000 บาท ก็ไม่ได้ แต่ถ้ายังลำบาก ก็มีสิทธิ์ได้ แต่หากนักโทษอาจจะมีเงื่อนไขอื่นๆ เพราะเขาคงไม่ได้ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ 

เมื่อถามว่าได้ 10,000 บาท ครั้งเดียว ผ่านแอปฯ เป๋าตังเลยหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ที่ท่านนายกฯ พูดคือ จะใช้แอปฯ เป๋าตัง ซึ่งคนใช้ และร้านค้าคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า มีแต่โครงสร้างเดิมๆ เพราะจะมีบล็อกเชนที่จะมีช่วยให้เราสามารถที่จะวิเคราะห์การจับจ่ายของประชาชน เพื่อต่อยอดโครงการต่อไปได้ 

ต่อข้อถาม คนที่เข้าเกณฑ์ต้องทำอย่างไรบ้างในการรับสิทธิ์ นพ.สุรพงษ์ เผยว่า ในฐานะประชาชนต้องมีการเตรียมลงทะเบียนสำหรับคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ เพื่อยืนยันตัวตน แต่คนที่รับเงินเดือนประจำ เรามีฐานข้อมูลอยู่แล้ว 

หลังการยืนยันแล้ว วันที่เริ่มใช้สิทธิ์ดิจิทัลวอลเล็ต ก็จะมีเงินเข้ามาใน "เป๋าตัง" ทันที 10,000 บาท ตามเงื่อนไข ต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน ใช้ไม่หมดก็จะหายไป และจะต้องใช้ในพื้นที่ตามที่ระบุในทะเบียนบ้าน ขณะที่ร้านค้า ต้องอยู่ในระบบภาษี แต่ไม่ต้องจด VAT 

เมื่อถามว่าจะได้ใช้ พ.ค. 67 จริงๆ หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า เงื่อนไขที่จะต้องยื่นให้กฤษฎีกานั้น เขาคงดูความรัดกุมในข้อกฎหมายว่า หลักการและเหตุผลในการจะกู้เงินเป็นอย่างไร เราก็ต้องอธิบายว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร หากไม่ทำอะไรก็จะทรุดไปเรื่อยๆ ปีหน้าคงลำบากแน่ เพราะตัวเลขทั้งส่งออก การผลิต ลดลง ซึ่งยืนยันว่าโครงการนี้จะต้องมีการกู้เงินมาเพื่อดำเนินการ เพราะวันนี้เงินในระบบไหลออกไปต่างประเทศ เพราะดอกเบี้ยในต่างประเทศสูงกว่า ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ ปล่อยน้อยมาก ซึ่งนายกฯ เองก็พูดว่ากลัวเศรษฐกิจใต้ดิน (ธุรกิจสีเทา) ซึ่งมีเยอะมาก ทำให้เงินหายไปจากระบบ จนต้องไปเกลี่ยจากเงินงบประมาณฯ ที่ควรจะต้องนำไปพัฒนาอย่างอื่น และหากนำมาใช้ตรงนี้ ก็เท่ากับว่า เราไม่ได้เติมเงินใหม่ แต่หลักการของเราคือ ต้องเติมเงินใหม่ให้ได้ ดังนั้น จึงกลับมาที่กู้เงินเข้ามา

ต่อข้อถาม พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ต้องผ่านสภาไหนบ้าง นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ต้องผ่านทั้ง สส. และ สว. ซึ่งหากไม่ผ่าน สว. ก็ต้องมีการยันกลับไปอีกครั้งตามกระบวนการ ส่วนพรรคร่วมจะเห็นด้วยไหม เราเชื่อว่าหากอธิบายเหตุแห่งความจำเป็น และการดำเนินการที่โปร่งใส ก็จะสามารถทำให้พรรคร่วมเห็นด้วยได้ 

นพ.สุรพงษ์ ยังบอกด้วยว่า วันนี้หากตัวเองได้เป็นรัฐมนตรีคลัง อาจจะเติมเงินมากกว่า 500,000 ล้านด้วยหรือเปล่า และถ้ามันมีเหตุจริงๆ การออก พ.ร.บ. ช้า การออก พ.ร.ฎ. จะเป็นอีกทางหนึ่ง แต่หากเศรษฐกิจรอได้ ก็อยากให้รอ พ.ร.บ.ออก 

เมื่อถามว่า ทำไมถึงไม่สามารถนำไปจ่ายค่าเทอม หรือใช้หนี้ได้ นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า เนื่องจากเราต้องการให้เงินหมุนอยู่ในระบบ แต่หากนำไปใช้หนี้ เงินนี้ก็จะอยู่กับเจ้าหนี้อย่างเดียว โดยไม่หมุนไปไหนอีก


"NewsRoom" สดทุกวันจันทร์-ศุกร์ 18.30-19.30 น. กับ "คิงส์ พีระวัฒน์ อัฐนาค" และ "กาย พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ" ทางยูทูบ ไทยรัฐออนไลน์ และเฟซบุ๊ก ไทยรัฐออนไลน์