“นพ.เอกภาพ” คณะทำงานด้านสาธารณสุขพรรคภูมิใจไทยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่และยาสูบในไทย พร้อมชี้สาเหตุทำไมบุหรี่เถื่อนทะลัก พร้อมแนะจับตาการประชุม COP10 โดยองค์การอนามัยโลก

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.เอกภพ เพียรวิเศษ อดีตคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และคณะทำงานด้านสาธารณสุข พรรคภูมิใจไทย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการควบคุมยาสูบในประเทศไทย ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังได้เตรียมปรับโครงสร้างภาษียาสูบในประเทศใหม่ หลังจากเสียท่าบุหรี่เถื่อนตีตลาดถึง 1 ใน 4 (คลังเตรียมปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่) โดยนพ.เอกภพ ระบุว่า ตัวเลขผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยไม่ได้ลดลง แม้จะมีการรณรงค์ด้วยงบจำนวนมาก แต่ยอดขายบุหรี่ลดลง และกระทบกับโควตารับซื้อใบยาสูบ เพราะบุหรี่เถื่อนขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับการปรับอัตราภาษีเป็น 2 ขั้น ทำให้บุหรี่นอกบางยี่ห้อลดราคาเพื่อใช้ช่องทางภาษีจนราคาขายปลีกต่อซองลดลงมากตีตลาดบุหรี่จากโรงงานยาสูบ ขณะที่การปรับภาษียาสูบเมื่อปี 2564 ทำให้บุหรี่ราคาถูกมีราคาสูงขึ้นมากกว่าบุหรี่กลุ่มตลาดบน ส่งผลให้กลุ่มผู้สูบรายได้น้อยเกิดความอ่อนไหว ยิ่งทำให้บุหรี่เถื่อนเติบโตขึ้นมาก ประกอบกับการเติบโตขึ้นของตลาดบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีการคาดการณ์จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งเคยเข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ.การสาธารณสุขอาจมีมูลค่าสูงถึงปีละ 5 พันล้านบาท ยิ่งส่งผลต่อการควบคุมยาสูบในประเทศไทย

นพ.เอกภพ กล่าวอีกว่า บทเรียนช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา การควบคุมการบริโภคยาสูบล้มเหลว การใช้มาตรการทางภาษีอย่างเดียวไม่สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้ สร้างความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายของผู้เลิกบุหรี่ไม่ได้ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่เถื่อนและการขายบุหรี่ไฟฟ้าที่หลายองค์กรสนับสนุนให้แบนทั้งที่เป็นมาตรการไม่ได้ผล นอกจากนั้น การออกนโนบายโดยคำนึงถึงเหตุผลด้านสุขภาพตามใจหมอ แต่ไม่ได้ฟังเสียงผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ และไม่สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ล้วนส่งผลให้การควบคุมการบริโภคยาสูบล้มเหลว

...

“ในเดือนนี้ องค์การอนามัยโลกในส่วนความร่วมมือควบคุมการบริโภคยาสูบจะมีการประชุมที่เรียกสั้นๆ ว่า COP10 ขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเครือข่ายสมาชิกในข้อตกลงนี้ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย แต่การประชุมรอบนี้ ซึ่งจะมีการออกคำแถลง ออกทิศทางแนวนโยบายการควบคุมยาสูบที่เราต้องติดตามทิศทางการแสดงออกของผู้แทนประเทศไทยในการประชุมนี้ให้ดี เพราะประเด็นเรื่องการแบนส่วนผสมในบุหรี่มีบันทึกในการประชุมของคณะกรรมาธิการหลายชุดที่เห็นตรงกันว่า ไม่ควรดำเนินการ และเรื่องข้อเสนอที่เคยจะนำเข้าพิจารณาใน ครม. ก่อนยุบสภาก็ได้ถูกดึงออกไปพิจารณาทบทวนใหม่ ผู้แทนของไทยจึงไม่ควรมีความเห็นในเรื่องนี้ต่อที่ประชุม และประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า ที่สภาชุดที่ผ่านมา มีข้อสรุปจากอนุกรรมาธิการสองชุด และมีการศึกษาของสำนักงานวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังที่เห็นว่าการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกควบคุมได้แทนที่จะแบน แต่ควบคุมไม่ได้จะส่งผลดีในหลายมิติมากกว่า รวมทั้งสภาชุดปัจจุบันมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้น ตัวแทนประเทศไทยจึงไม่ควรลงความเห็นใดๆ ในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าต่อที่ประชุมเช่นกัน การประชุมระหว่างประเทศนี้เป็นการประชุมของผู้แทนประเทศ ไม่ได้เป็นการประชุมวิชาการที่แต่ละคนแสดงความเห็นส่วนบุคคล หรือแสดงความเห็นในนามองค์กรของแต่ละคนได้ อยากจะขอให้ทุกคนช่วยกันจับตา อย่าคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว ถ้าอยากจะทำให้ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ลดลง ถ้าอยากจะปกป้องลูกหลานจากบุหรี่ ต้องช่วยกันให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ และช่วยกันแสดงความคิดเห็น อย่าปล่อยให้เรื่องสุขภาพของเราอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป” นพ.เอกภพ กล่าว