อ.ธรณ์ ให้ความรู้ เหตุใด "ไฟไดหมึก" นิยมใช้ไฟสีเขียว หลังโซเชียลฮือฮาปรากฏการณ์ "แสงสีเขียว" เขาพะเนินทุ่ง 

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 มีรายงานว่า จากกรณีโลกออนไลน์แชร์ปรากฏการณ์ "แสงสีเขียว" เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งต่อมานักวิชาการดาราศาสตร์ เฉลยแล้วว่าไม่ใช่ "แสงออโรรา" แต่น่าจะเป็นแสงจากเรือไดหมึก หรือว่าแสงไฟบางอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นที่มีแสงสีเขียว

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณี "ทำไมชาวประมงต้องใช้ไฟสีเขียว"

โดยระบุว่า แสงสีเขียวที่เห็นจากเขาพะเนินทุ่งคือแสงของเรือไดหมึก เรื่องนี้คงเคลียร์แล้ว แต่ทำไมชาวประมงต้องใช้ไฟสีเขียว? จะมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังครับ

ย้อนกลับไปสมัยผมยังเด็ก (50 ปี) ทะเลไทยไม่ได้สว่างไสวเช่นทุกวันนี้ เรามีการประมงแบบใช้แสงไฟล่ออยู่บ้าง แต่ยุคนั้นยังเป็นแค่ตะเกียงเจ้าพายุ ส่องแสงสีขาว เรือก็มีอยู่เพียงไม่กี่ลำทำอวนล้อมกลางทะเล

เมื่อเข้าสู่ปี 2520 ชาวประมงแถวปราณบุรีที่จับหมึก เริ่มทดลองเอาไดนาโมปั่นไฟลงเรือไปด้วย ปรากฏว่าหมึกชอบมาก มาว่ายวนให้จับกันเต็มไปหมด จึงเป็นการเปิดศักราชประมงปั่นไฟจับหมึก

คำว่า "ไดหมึก" ก็มาจาก "ไดนาโม" ที่นำลงเรือ

ตอนแรกยังเป็นไฟขาว ต่อมามีคนใช้ไฟเขียว จึงเริ่มขยายวงกว้าง ใครต่อใครหันมาใช้ไฟเขียวตามกัน ทะเลไทยจึงสว่างไสวไปด้วยสีเขียว

แล้วทำไมต้องสีเขียว?

ผมนำงานวิจัยของ ดร.จรวย ลูกศิษย์ผมที่คณะประมง มก. มาอ้างอิง จรวยเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องหมึกทะเล จึงทดลองเรื่องผลของแสงไฟที่มีต่อหมึก หมึกไม่ใช่ปลา หมึกทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ถือเป็นสัตว์กลุ่มนี้ที่พัฒนาสูงสุด เราอาจไม่เคยเห็นแมงกะพรุนจีบกัน แต่ลองไปถามนักดำน้ำได้ครับว่าเคยเจอหมึกจีบกันมั้ย มีแม้กระทั่งหมึกชู้ 

...

หมึกยังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีการพัฒนานัยน์ตาและการมองเห็นดีสุด หมึกกล้วยยักษ์ที่อาศัยอยู่ในน้ำลึก ยังเป็นเจ้าของสถิติ "ตาสัตว์ใหญ่สุดในโลก" ตาหมึกกล้วยยักษ์ใหญ่กว่าตาของวาฬสีน้ำเงิน สัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกอีกแน่ะ

หมึกจึงใช้ตาในการหาเหยื่อ อย่างไรก็ตาม หมึกตาบอดสีนะครับ ไม่สามารถแยกสีได้ แต่ทดแทนด้วยความสามารถในการแยกระดับความเข้มแสง ฯลฯ เมื่อในน้ำมีไฟ แพลงก์ตอนถูกแสงกระตุ้นให้เข้ามารวมกัน ปลาเล็กตามเข้ามา หมึกจึงตามเข้ามาหาอาหาร

นอกจากนี้ สัตว์น้ำหลายชนิดยังถูกกระตุ้นด้วยแสงโดยตรง แพลงก์ตอนยังไม่มา หมึกมาแล้ว เรื่องนี้เป็นไปได้เช่นกัน ว่าง่ายๆ คือมีทั้ง 2 สาเหตุที่หมึกชอบเข้ามาหาแสงไฟ

ดร.จรวยทดลองใช้ไฟ 4 เฉดสี ขาว แดง เขียว และฟ้า ทำไปเกือบ 200 ครั้ง ก่อนพบว่าสีของไฟส่งผลต่างกันนะ

หมึกไม่ชอบไฟสีแดง ไม่ชอบมากๆ ชนิดเข้ามาน้อยกว่าแสงสีฟ้า 10 เท่า หมึกชอบไฟสีฟ้า เข้ามาบ่อยครั้งที่สุด รองลงมาคือสีเขียวกับสีขาว

เพศไม่มีผล หมึกหนุ่มหมึกสาวล้วนถูกล่อลวงด้วยไฟได้เหมือนกัน ดังที่บอกไว้ หมึกตาบอดสี แล้วทำไมถึงเข้าหาไฟสีต่างๆ ไม่เหมือนกันล่ะ?

เหตุผลที่พอตั้งสมมติฐานได้ คือแสงสีแดงถูกดูดกลืนในน้ำได้เร็วสุด 

ลองดูภาพปะการังกัลปังหาสีแดงสีชมพูสวยๆ ก็ได้ครับ เราต้องใช้แฟลชใต้น้ำถ่าย หรือไม่ก็เข้าโปรแกรมที่เร่งสีแดงโดยเฉพาะ

เมื่อแสงสีแดงโดนดูดกลืนง่าย ย่อมสว่างออกไปในน้ำไม่ไกลนัก หมึกไม่เห็นแสง หมึกก็ไม่เข้ามา

แสงสีฟ้าคือสีที่ทะลุน้ำได้ไกลสุด รองลงมาคือสีเขียว หมึกจึงเห็นแสงสีฟ้าแล้วเข้ามาหาบ่อยสุด แต่นั่นคือในห้องแล็บ ถ้าเป็นในทะเล เคยมีงานวิจัยเมืองนอกบอกว่าสีฟ้าหรือสีเขียวก็ไม่ต่างกันมากนักหากน้ำใส งานวิจัยบางเปเปอร์บอกว่าสีขาวก็ดีนะ แต่ทะเลไทยอยู่ชายฝั่ง มีตะกอนเยอะ แสงไม่ได้ถูกดูดกลืนเพียงอย่างเดียว ยังสะท้อนตะกอนและอื่นๆ อีกมาก 

แสงสีฟ้าหรือสีเขียวอาจส่งทะลุไปในน้ำแบบนี้ได้ใกล้เคียงกัน อีกทั้งหมึกแยกสีไม่ออก แต่เข้ามาตามความเข้มแสง จึงเป็นไปได้ว่าแค่แสงสีเขียวก็ให้ความเข้มแสงที่เพียงพอต่อการล่อหมึกในระยะทำการแล้ว ความนิยมยังเป็นอีกสาเหตุ เมื่อคนหนึ่งใช้ คนอื่นก็ใช้ เมื่อใช้ได้ก็ไม่คิดจะเปลี่ยน ใช้ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

นั่นคือที่มาของแสงสีเขียวทั่วท้องทะเลไทย หากอยากรู้มากไปกว่านี้ ต้องรออีกสักระยะ เพราะตอนนี้ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง เพิ่งได้ชุดอุปกรณ์ศึกษาพฤติกรรมสัตว์น้ำมาหมาดๆ ดร.จรวย กำลังวางแผนการทดลองขั้นต่อไป รอให้ผลออกมาก่อน จะนำมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง 

หมายเหตุ - มีอีกคำถามที่น้องสื่อมวลชนเพิ่งถามมาในเมืองนอกมีปรากฏการณ์แบบนี้บ้างไหม?

คำตอบคือหายากที่จะมีเรือไดหมึกมากมายมหาศาลปานนี้ เพราะทะเลไทยเป็นทะเลน้ำตื้น ธาตุอาหารสมบูรณ์ แพลงก์ตอนเยอะ ปลาเล็กปลาน้อยเยอะ หมึกที่เป็นผู้ล่าจึงเยอะตาม ทะเลอื่นบางแห่งก็เป็นเช่นนี้ แต่ปัญหาสำคัญคือจะจับหมึกไปขายใคร

หมึกทะเลเป็นสัตว์เศรษฐกิจคู่เมืองไทยมาแสนนาน เรากินหมึกกันแพร่หลาย จับมาขายไปง่ายและได้ราคา เรายังมีนักท่องเที่ยวมหาศาลเข้ามาช่วยกินหมึก เรามีภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ทำกันต่อมาเนิ่นนาน กลายเป็นที่คุ้นเคยและทำต่อกันจากปู่สู่หลาน

เรายังเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ทำเรือไดหมึกและทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน หลายปัจจัยมารวมกัน ทำให้การประมงไดหมึกเป็นที่นิยมทั่วทะเลไทย จึงทำให้มนุษย์อวกาศเห็นทะเลไทยเป็นสีเขียว

ขณะที่ในเมืองนอก แม้บางแห่งจะมีหมึกเยอะ แต่ปัจจัยอื่นๆ ไม่เอื้อ เช่น ชาวประมงมีน้อย จับมาก็ขายยาก ไม่ค่อยได้ราคา เรือออกไปทำประมงก็เลยน้อยตามไปด้วย เรือน้อยก็ย่อมไม่สว่างไสวจนแสงสะท้อนเมฆเห็นไปไกลถึงยอดเขา

สำหรับคำถามว่า จับกันเยอะขนาดนี้จะเป็นอะไรไหม?

การประมงไดหมึกเป็นการจับสัตว์น้ำแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำวัยอ่อน อีกทั้งยังทำให้ประมงพื้นบ้านมีรายได้ครับ

หากเราอยากช่วยทะเลไทย เริ่มจากเลิกกินสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ลูกปลาทู ที่จับมาจากวิธีทำปาะมงแบบอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรือไดหมึกครับ.

ข้อมูลจาก แฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat