"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน" เผยภาพ กระทิง (Bos gaurus) ที่บันทึกได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า หลังจากไม่ได้รับรายงานมาเป็นเวลานานกว่า 37 ปี
วันที่ 29 ตุลาคม 2566 เพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ข้อความระบุว่า นายอาคม บุญโนนเเต้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เปิดเผยว่า ตามที่เขตฯ ได้มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) เพื่อสำรวจการกระจายของสัตว์ป่าในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL)
เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพของป่ารอยต่อระหว่างประเทศไทย และสหภาพเมียนมา โดยเลือกพื้นที่ที่พบร่องรอยสัตว์ป่าชุกชุม หรือมีรายงานว่าเคยพบเห็นสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ในบริเวณนั้น โดยเมื่อช่วงเวลาเช้าตรู่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทางเขตฯ ได้เปิดกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า พบกระทิง (Bos gaurus) ซึ่งเป็นสัตว์ที่นับว่าพบตัวยาก ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย
...
สำหรับกระทิง เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ได้พบเห็นครั้งล่าสุด เมื่อปี 2529 และในปี พ.ศ. 2531 มีผู้ลักลอบล่าวัวป่าชนิดนี้ จากบริเวณแม่ลาหลวงใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา ซึ่งเป็นผืนป่าต่อเนื่อง กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน (ไพฑูรย์ ตนพะยอม 2533, การติดต่อส่วนตัว)
ข้อมูลเกี่ยวกับการพบเห็นตัวกระทิง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ที่มีปรากฏในเอกสารรายงานฉบับร่างแผนแม่บทเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2533
นับเป็นเวลากว่า 37 ปี แล้วที่ไม่มีรายงานการพบเห็นตัวกระทิง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินเลย หากแต่มีเพียงข้อมูลคำบอกเล่า รอยตีน หรือ กองมูล ที่ไม่อาจยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นกระทิงหรือไม่ แตกต่างกับวัวแดง ที่มีพบเห็นตัวโดยตรงบ่อยครั้ง และมีแหล่งอาศัยชัดเจน คือบริเวณป่าเต็งรังที่ราบตอนบนของเขตฯ เท่านั้น
กระทิง ชื่อสามัญคือ Gaur มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bos gaurus พบในวันที่ 8 ตุลาคม 2566 เวลา 03.01 น. ตัวผู้ ตัวเต็มวัย จำนวน 1 ตัว กระทิงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ที่จัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered : EN) ตามการจัดสถานภาพสัตว์ป่าของ IUCN (สผ. ) และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
จากการรายงานของเจ้าหน้าที่บริเวณที่ถ่ายภาพได้ และชาวบ้านในพื้นที่ พบว่ามีร่องรอยกระทิงมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ประจำทุกปี โดยมาในลักษณะฝูงเล็กๆ (1 – 3 ตัว) หรือมาในลักษณะกระทิงโทน (ตัวผู้ตัวเดียว) และมีพฤติกรรมหากินข้ามไปมาบริเวณป่ารอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา และประเทศเมียนมา หากแต่เป็นเพียงข้อมูลคำบอกเล่า รอยตีน และกองมูล ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ ว่าเป็นกระทิง หรือเป็นร่องรอยปศุสัตว์ของชาวบ้าน
ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ในครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานที่สำคัญในการยืนยันการมีอยู่และการกระจายของกระทิงในพื้นที่ ดังนั้น "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน จึงถือเป็นป่าอนุรักษ์เพียงแห่งเดียวในภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีรายงานพบเห็นตัวกระทิงในปัจจุบัน"
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช