"กรมอนามัย" เผย 5 อาการป่วยของผู้ที่สัมผัสฝุ่น PM 2.5 โดยอาการที่พบมากสุด คือ ระบบทางเดินหายใจ พร้อมแนะข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันสุขภาพ

วันที่ 21 ตุลาคม 2566 มีรายงานว่า แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย ได้เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน และจะเข้าฤดูหนาว มีแนวโน้มความกดอากาศที่สูงขึ้น อากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้ฝุ่นละอองสะสม และเพิ่มสูงขึ้น 

ทั้งนี้ จากรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษ ทางอากาศ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ตรวจวัดได้ 24.6-55.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) สำหรับภาคอื่นๆ ภาพรวมยังไม่เกิน ค่ามาตรฐาน และจากการคาดการณ์ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 จะอยู่ในระดับสีส้มอีก 1-2 วัน เนื่องจากสภาพอากาศนิ่ง 

จากข้อมูลเฝ้าระวังการรับสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เชิงรุก ผ่านทางเว็บไซต์ 4Health ในต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝุ่น ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 พฤษภาคม 2566 พบว่า ร้อยละ 77 ประชาชนมีอาการ ที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัส PM 2.5

โดยอาการที่พบมากสุด คือ ระบบทางเดินหายใจ ร้อยละ 35 รองลงมาระบบตา ร้อยละ 32 รองลงมา คือ ระบบหู คอ จมูก ร้อยละ 19 ระบบผิวหนัง ร้อยละ 9 และระบบหัวใจ และหลอดเลือด ร้อยละ 5 ตามลำดับ และยังพบว่า เดือนมกราคมและเมษายน 2566 ที่ประชาชนมีอาการจากการรับสัมผัส PM 2.5 มากที่สุด

ด้านนายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงปรับระดับการแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้การเฝ้าระวัง และการแจ้งเตือน รวมถึงการดูแลสุขภาพประชาชน มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำแนะนำในการปฏิบัติตน ในแต่ละระดับสีของฝุ่น PM 2.5 ดังนี้ 

...

  1. สีฟ้า ระดับดีมาก (0-15 มคก./ลบ.ม) ประชาชนทุกคนสามารถ ทำกิจกรรมได้ตามปกติ 
  2. สีเขียว ระดับดี (15.1-25 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไป สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง
  3. สีเหลือง ระดับปานกลาง (25.1-37.5 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง กลุ่มเสี่ยง ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง และผู้มีโรคประจำตัว ควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
  4. สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6-75 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไป ควรลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง เมื่ออยู่กลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยง ควรลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยา และอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม
  5. สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) ประชาชนทุกคน งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่ในห้องปลอดฝุ่น สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง เมื่ออยู่กลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ Life Dee และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถาม ได้ที่สายด่วนกรมอนามัย 1478