ถอดบทเรียน เจาะมูลเหตุจูงใจ เด็ก 14 ก่อเหตุยิงกลางพารากอน ใครต้องรับผิดชอบ ทำไมเด็กต่ำกว่า 15 ทำผิดไม่ต้องรับโทษ ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องทางแพ่งกับผู้ปกครองได้
วันที่ 5 ต.ค. 66 ในรายการเปิดปากกับภาคภูมิ โดย ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ วันนี้เป็นการพูดคุยในประเด็น "เจาะมูลเหตุจูงใจ เด็ก 14 ก่อเหตุยิงกลางพารากอน ใครต้องรับผิดชอบ" หลังเด็ก 14 ก่อเหตุยิงกลางพารากอน จนมีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต
โดยแขกรับเชิญที่จะมาพูดคุยในรายการวันนี้ คือ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ด้านเด็กและวัยรุ่น และ ผอ.ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
รศ.นพ.สุริยเดว เผยว่า ทุกวันนี้ก็ยังมีคำถามว่า ทำไมอาวุธร้ายแรงแบบนี้ถึงไปอยู่ในมือเด็ก หาซื้อได้ง่าย ประดิษฐ์ได้เอง หากมีความเคียดแค้นขึ้นมาแทนที่จะมีวิธีการจัดการอารมณ์กลับกลายเป็นการใช้ความรุนแรงจัดการอารมณ์
ในเรื่องของกฎหมาย ดร.วิเชียร เผยว่า โดยหลักของกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็ก ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นภาคีในการทำบันทึกข้อตกลง อนุสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กับสหประชาชาติ ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิเด็ก เนื่องจากมองว่าเป็นอนาคตของชาติ จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง การลงโทษต้องเป็นกรณีพิเศษจริงๆ เกือบทุกประเทศทั่วโลก จะมีกฎหมายที่จะไม่ลงโทษเด็ก พร้อมแก้ไขการทำผิดของเด็ก ให้กลับมาเป็นคนดีในภายหน้า ซึ่งเป็นหลักสากลทั่วโลก ทำผิด ก็ควรได้รับโอกาส นี่คือหลักการ
เพราะหากลงโทษเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย โตขึ้นมาก็จะตามมาด้วยปัญหาสังคม อย่างน้อยก็ไม่สามารถเข้ารับราชการได้ เพราะมีคดีติดตัว หรือทำอะไรอีกหลายๆ อย่าง และที่สำคัญ วุฒิภาวะ และความรู้สึกรับผิดชอบของเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ จึงต้องให้โอกาสเขา
...
เมื่อถามว่า หลายเคสอย่างฆ่ากดน้ำเพื่อน ก่อเหตุที่พารากอน ถือว่ารุนแรงเกินไปกับความคุ้มครองตรงนี้หรือไม่ ดร.วิเชียร เผยว่า การกระทำของเขาถือว่าเป็นความผิด แต่บทบัญญัติตามกฎหมายคือ เด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 15 ปี กระทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเหตุที่พารากอน อยู่ในหมวดนี้ แต่ยังเข้าสู่กระบวนการในการใช้วิธีสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นว่ากล่าวตักเตือน เรียกผู้ปกครองมาทำทัณฑ์บน ไม่ให้เด็กทำผิดอีก หรือใช้เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมความประพฤติเข้าไปควบคุมความประพฤติ สอดส่อง ไม่ให้ไปก่อเหตุร้ายอีก
หนักขึ้นมาหน่อย คือการส่งเด็กไปโรงเรียน หรือสถานฝึกอบรม หรือสถานที่ที่ภาครัฐกำหนดขึ้นเพื่ออบรมหรือพัฒนาเด็ก ของเราคือ สถานพินิจฯ ซึ่งในกรณีนี้ศาลมีคำสั่งให้ส่งเด็กไปที่สถานพินิจฯ โดยกรณีนี้แน่นอนว่า หลังจากที่ศาลตัดสินว่ามีความผิด ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการที่กล่าวมาข้างต้น แต่ไม่มีสั่งจำคุก
ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวเสริมว่า เข้าใจว่าจากเคสนี้ เมื่อตัวกฎหมายว่าไว้อย่างนี้ แต่ต้องมาดูองค์ประกอบเพิ่ม เช่นกระบวนการ เข้าใจว่าตอนนี้กระบวนการเหล่านี้ต้องถูกทบทวนทั้งหมดถึงประสิทธิภาพและคุณภาพ ใช้การตักเตือนได้ไหมกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น การเรียกพ่อแม่มาให้ควบคุมพฤติกรรมลูก จะต้องเข้มข้นมากกว่าเดิม ยกตัวอย่าง เคสนี้ ถ้าเคารพตามสิทธิเด็ก ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่องค์ประกอบต้องเข้มข้นขึ้น ต้องมีคนจากเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกำกับดูแลพฤติกรรมว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หมอไม่อยากให้เห็นว่าได้ทำ ได้อบรม แต่ผลลัพธ์ของการอบรม เปลี่ยนหรือไม่ พ่อแม่เองเมื่อลูกไปก่อเหตุแล้ว จะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีเวลา ต้องไปทำมาหากิน เพราะนี่คือ ลูก ดังนั้นต้องมีการเสียสละในการคลุกวงในในการเลี้ยงลูก เหลาความคิดของลูกอย่างไร
รศ.นพ.สุริยเดว บอกด้วยว่า แต่ไม่ว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไร ผลลัพธ์ต้องมีประสิทธิภาพ เมื่อเราให้โอกาส โอกาสนั้นต้องเป็นโอกาสที่ดี เพราะอย่าลืมว่าคนที่ถูกทำร้าย หรือสังคม ได้รับความเสียหายจากเรื่องนี้
ส่วนความเห็นของหมอ ถ้าเป็นการกระทำที่เจตนา และพิสูจน์ได้ว่า มีความซับซ้อน วางแผน มีเจตนาที่ไม่ดี สามารถทำข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่าถ้าบรรลุนิติภาวะแล้วไปทำความผิดอีก โทษอาจจะหนักขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเข้ากระบวนการมาแล้ว ซึ่งเด็กเองอาจจะต้องระมัดระวังในการกระทำความผิดมากขึ้นด้วย ซึ่งอันนี้เป็นข้อเสนอของหมอเอง ไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจศาล เราสามารถมาทบทวนกันได้
ดร.วิเชียร เผยว่า ในลักษณะแบบนี้ เชื่อว่าหากมีการกระทำความผิดอีก ศาลจะนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตกลับมาพิจารณาอีก อัตราโทษก็จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจในการเพิ่มอัตราลงโทษได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการพิจารณาคดีของศาลในอนาคต
ที่ผ่านมาเคยมีเคสที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลยให้การสนับสนุนให้เด็กกระทำความผิด ทางอาญา พ่อแม่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว นอกจากกฎหมายทั่วไป ยังมีกฎหมายคุ้มครองเด็ก แต่ในทางแพ่ง พ่อแม่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องร่วมกันรับผิดชอบกรณีที่ลูกไปละเมิดผู้อื่นด้วย ค่าสินไหมทดแทน ค่าปลงศพ หรือไร้อุปการะต่างๆ ได้หมด
เราจะดูเจตนาของเด็กที่ก่อเหตุอย่างไร รศ.นพ.สุริยเดว เปิดเผยว่า ถ้าตามจิตวิทยา เราจะดูประวัติเก่าในการดูแล ว่าเด็กมีประวัติทางสุขภาพจิตจริงหรือไม่ มีการรับยาจริงไหม จะได้ไม่มากล่าวโทษ กล่าวอ้างว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อการละเว้น หรือพ่อแม่ใกล้ชิดดูแลหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ยาก เอาแค่อาวุธปืนที่เห็นในห้องจำนวนมาก พ่อแม่ก็หละหลวมแล้ว หรือแม้จะกระทั่งภาพซ้อมยิงปืน ซึ่งคนที่มีความเครียด จะไม่จัดการความเครียดด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะเป็นการยั่วยุอารมณ์
ซึ่งตามรายงานนั้น พบว่าน้องมีการส่งภาพยิงปืนให้แม่ หลังจากที่แม่กวดขันเรื่องการเรียน หากเป็นผู้ปกครองที่ใส่ใจจะตามติดทันที ว่าไปยิงปืนได้อย่างไร และหากเจรจาได้ ก็จะทำให้สนามเองก็จะไม่อนุญาตให้เด็กเข้าด้วย เพราะตามกฎของสนามยิงปืน ถ้าเป็นเยาวชน ต้องมีผู้ปกครองไปด้วย เอาจริงๆ จากเหตุการณ์นี้ควรยกเลิกด้วยซ้ำ หากไม่ได้เป็นนักกีฬา ไม่ได้มีเหตุผลอะไรในการซ้อมยิงปืน เพราะไม่ใช่สาระแล้ว มีกฎ แต่ถูกละเลยไปหมด ต่อให้เป็นผู้ใหญ่ จะไปหาซื้อปืนมาครอบครองได้อย่างไร คนเกี่ยวข้องจะแก้อย่างไร มีวิธีการจัดการอย่างไร
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ห่วงเรื่องไหนมากที่สุด รศ.นพ.สุริยเดว ระบุว่า เรื่องอาวุธปืน และอาวุธทุกประเภทที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าควบคุมอย่างเข้มงวดทุกแหล่ง การครอบครอง วันนี้ถ้าไม่มีอาวุธที่เด็กสามารถเอาไปได้ ก็คงไม่มีโศกนาฏกรรมนี้
สิ่งที่พ่อแม่ต้องเข้าไปหยุดพฤติกรรมของลูก ได้แก่ พฤติกรรมอะไรก็ตามที่เด็กกำลังกระทำแล้วเสี่ยงต่อชีวิตตัวเอง เสี่ยงต่อชีวิตคนอื่น หรือพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ฉะนั้น กลับมาที่เคสเด็ก 14 พ่อแม่อาจจะอ้างว่าไม่อยากเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของลูก ซึ่งเราสามารถใช้เวลาที่เขาไม่อยู่ เข้าไปสำรวจได้ แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องจุกจิกมากกว่า และเมื่อเจอ 3 พฤติกรรมเสี่ยงแล้ว ต้องทำการหยุดทันที จะมาอ้างว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวของลูกไม่ได้
ติดตามได้ในรายการเปิดปากกับภาคภูมิ เวลา 15.30 น. ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32