เผยคลิปหาชมยาก "เม่นทะเล" สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง พบทั่วไปตามพื้นทรายแนวปะการัง ทรายปนโคลนหรือซอกหิน ด้านที่เกาะกับพื้นเป็นปาก ทวารหนักอยู่กลางลำตัวด้านบนสุด

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 มีรายงานว่า แฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ภาพและข้อความว่า รู้จัก...หอยเม่น/ เม่นทะเล (ชมคลิปหาชมยากในคอมเมนต์) 

หอยเม่น / เม่นทะเล (Sea urchin) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diadema setosum

เม่นทะเล หรือ หอยเม่น อยู่ในกลุ่มเอคไคนอยด์ที่มีสมมาตร อาศัยอยู่ตามพื้นแข็ง มีสีต่างกัน ด้านที่เกาะกับพื้นเป็นปาก ทวารหนักอยู่กลางลำตัว ด้านบนสุด เม่นทะเลจะมีหนามสองขนาด หนามขนาดยาวใช้ในการผลักดันพื้นแข็ง ขุดคุ้ยสิ่งต่างๆ หรือช่วยในการฝังตัว หนามเล็กสั้นใช้ยึดเกาะเวลาปีนป่าย เม่นทะเลที่มีพิษจะมีหนามที่กลวงและมีพิษอยู่ภายใน หนามนี้จะแทงทะลุผิวหนังได้ง่าย เมื่อหักจะปล่อยสารพิษออกมา

วงจรชีวิต : สมมาตรร่างกาย ตัวอ่อนเป็นเเบบครึ่งซีก ตัวเต็มวัยมีเมแทมอร์โฟซิสกลายเป็นสมมาตรเเบบรัศมี ตัวอ่อนใช้ชีวิตล่องลอยในน้ำก่อนพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยและลงเกาะบนพื้นทรายในทะเล

การสืบพันธุ์ : เม่นทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ปล่อยไข่และสเปิร์มนอกลำตัว ทำให้เกิดการปฏิสนธิในน้ำทะเล โดยที่พ่อและแม่อาจไม่เคยพบกันเลย สเปิร์มและไข่แม้มีการปฏิสนธิภายในน้ำทะเลที่มีพื้นที่ไม่จำกัด แต่จะเกิดการปฏิสนธิเฉพาะในสายพันธุ์เดียวกันเท่านั้น การออกไข่แต่ละครั้งในปริมาณนับล้าน ไข่และตัวอ่อนมีลักษณะใส มองเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ชัดเจน วงชีวิตที่สั้น อาหารของเม่นทะเลคือสาหร่าย สัตว์ที่ตายแล้ว และสัตว์ไม่มีกระดูก แหล่งที่อยู่จะพบทั่วไปตามพื้นทรายแนวปะการัง ทรายปนโคลนหรือซอกหิน

...

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า กลมๆ ตรงกลางคือก้น เม่นทะเลปากอยู่ข้างล่าง ก้นอยู่ข้างบน ไม่ใช่ตา เม่นไม่พัฒนาถึงขั้นตา เป็นแค่อวัยวะรับแสงเป็นจุดๆ อยู่ตามเท้าท่อหรือท่อเล็กๆ ที่ช่วยในการเคลื่อนที่

เม่นกินแบบขูด สาหร่าย ปะการังตาย อะไรพวกนี้ แต่อะไรขูดได้ก็กินไปเรื่อยๆ ไม่เลือก และยังช่วยควบคุมสาหร่ายในระบบนิเวศ โดยเฉพาะเมื่อปะการังฟอกขาว สาหร่ายจะขึ้นบนปะการังตายอย่างรวดเร็ว หากไม่มีเม่น หรือมีน้อยเกินไป สาหร่ายจะคลุม และปะการังจะฟื้นยาก ตัวอ่อนปะการังจะลงเกาะยาก 

การรักษาสมดุลของทะเล คือ ไม่จับเม่นทะเลมากินจนหมดแนวปะการัง เพราะจะไม่มีผู้ควบคุมสาหร่ายอีกต่อไปครับ

ที่มา : อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ Khaolak-Lamru National Park สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)