สรุปประเด็นร้อน "ชาวภูเก็ต" วิจารณ์ยับ หลังหนุ่มโพสต์อ้างคำสอน "คริสเตียน" พาดพิงร่างทรง-การกินเจ จนผู้เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง ลั่นอย่านำ "ศรัทธาความเชื่อ" มาสร้างความขัดแย้งในสังคม
วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความพาดพิงเกี่ยวกับประเพณีถือศีลกินเจ ในจังหวัดภูเก็ต โดยระบุว่า "ภูเก็ตเทศกาลกินเจ ร่างทรงไม่ละอายในการเอาผีเข้าคน คริสเตียนจึงไม่ละอายในการขับผีออกจากคน ตามที่พระเยซูสั่งให้คริสเตียนออกไปทำ"
ซึ่งหลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ต่างก็มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมากถึงกระทำของเจ้าของโพสต์ ว่าเป็นการกล่าวดูหมิ่นความศรัทธาของผู้คนที่เคารพ ในเรื่องของการถือศีลกินเจ แถมยังมีการกล่าวพาดพิงถึงความเชื่อของคริสต์ศาสนา ที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในสังคมได้
คริสตจักรโปรเตสแตนท์ จ.ภูเก็ต ออกหนังสือแจง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ "ผู้โพสต์"
...
ต่อมา ศาสนาจารย์ชาญวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธานกรรมการประสานงานคริสตจักรโปรเตสแตนท์ จังหวัดภูเก็ต ได้ออกหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ถึงนายกสมาคมอ๊ามจังหวัดภูเก็ต และพี่น้องชาวจังหวัดภูเก็ต
โดยระบุว่า จากกรณีที่มีโพสต์เฟซบุ๊กของบุคคลหนึ่ง พาดพิงเทศกาลกินเจจังหวัดภูเก็ต ในทางเสียหายนั้น ในนามกรรมการประสานงาน คริสตจักรโปรเตสแตนท์จังหวัดภูเก็ต ขอชี้แจงว่า ผู้โพสต์ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคริสตจักร และคริสเตียน จังหวัดภูเก็ตใดๆ ทั้งสิ้น
ประเทศไทยมีองค์กรคริสเตียนที่สังกัดกรมการศาสนาอยู่ 3 สังกัด ได้แก่ สภาคริสตจักรในประเทศไทย สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย และสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ประเทศไทย ผู้โพสต์ไม่ได้สังกัดในสังกัดใดๆ ขององค์กรคริสเตียนประเทศไทยทั้งสิ้น
ดังนั้นการโพสต์เช่นนี้ นำมาซึ่งความเข้าใจผิดต่อกันและกันในสังคม จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ต่างอยู่กันอย่างสมานฉันท์กันด้วยดีมาโดยตลอด ข้าพเจ้าในนามกรรมการประสานงานคริสตจักรโปรเตสแตนท์ จังหวัดภูเก็ต จึงขอเรียน ชี้แจงมา ณ ที่นี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันและกัน
"สมาคมอ๊ามภูเก็ต" หารือ "คริสจักรโปรเตสแตนท์" เคลียร์ปมขัดแย้งด้าน "ความเชื่อทางศาสนา"
อย่างไรก็ตาม ด้านเฟซบุ๊กเพจ สมาคมอ๊ามภูเก็ต - 普吉庵廟協會 ก็ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยกับเรื่องดังกล่าวโดยระบุข้อความว่า เคลียร์ให้ชัด จัดให้จบ บ่ายวันนี้ นายกิตติวงศ์ จันทร์สัทธรรม นายกสมาคมอ๊ามภูเก็ต นายอมรเทพ อธิพงศ์ถาวร กรรมการสมาคมอ๊ามภูเก็ต และนายกิตติศักดิ์ ทรัพย์ทวี เลขานุการสมาคมอ๊ามภูเก็ต
ได้หารือกับ ศาสนาจารย์ชาญวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธานกรรมการประสานงานคริสจักรโปรเตสแตนท์ จังหวัดภูเก็ต และศาสนาจารย์ ธิคุณ ภาพเสน่ห์ จากคริสตจักรเมล็ดพันธุ์ เชิงทะเล เกี่ยวกับประเด็นร้อนในค่ำคืนที่ผ่านมา เกี่ยวกับโพสต์ของบุคคลหนึ่ง ที่พาดพิงเกี่ยวกับร่างทรง และประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ ศาสนาจารย์ชาญวิทย์ ได้ชี้แจงว่า การโพสต์ของนายสิทธิโชคนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคริสตจักร และคริสเตียน จังหวัดภูเก็ตใดๆ นอกจากนี้ บุคคลดังกล่าวไม่ได้อยู่ในสังกัดของสภาคริสตจักรในประเทศไทย สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย และสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่สังกัดกรมศาสนา และไม่ได้อยู่ในสังกัดใดๆ ขององค์กรคริสเตียนในประเทศไทย การโพสต์ดังกล่าวนำมาซึ่งความเข้าใจผิดต่อกันและกันในสังคม
การอยู่ร่วมกันในสังคมชาวภูเก็ต เป็นการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรม ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาซิกข์ศาสนาฮินดู หรือ เต๋า ก็ตาม เราอยู่ร่วมกันมากว่า 200 ปี โดยไม่เคยมีความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ หรือศรัทธา ของแต่ละฝ่ายเลย กลับกัน สังคมชาวภูเก็ตเราอยู่บนพื้นฐานของความรัก การให้เกียรติ เคารพซึ่งกันและกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ
วันนี้ ทางคริสตจักร จังหวัดภูเก็ต ได้เข้าทำความเข้าใจ ร่วมกับสมาคมอ๊ามภูเก็ต และมีความเข้าใจอันดีต่อกันแล้วว่า คริสตจักรเอง มิได้มีคำสอนให้มีการเบียดเบียน หรือด้อยค่าความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาอื่นๆ และคริสตจักรในจังหวัดภูเก็ต ก็ได้ให้เกียรติ และเคารพในหลักธรรมความเชื่อของศาสนาอื่นๆ มาโดยตลอด จึงขออภัยมายังพี่น้องชาวภูเก็ตมา ณ โอกาสนี้ และหวังอย่างยิ่งว่า พี่น้องชาวภูเก็ตจะเข้าใจคริสตจักร จังหวัดภูเก็ต
สำหรับคอมเมนต์ ที่มีผู้นำภาพประชาสัมพันธ์ ไปคอมเมนต์ในโพสต์ดังกล่าวนั้น ผู้คอมเมนต์ได้กระทำไปเพียงต้องการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเท่านั้น หาได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนโพสต์ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ และกรณีไม่มีความเกี่ยวพันกันแต่อย่างใด ซึ่งศาสนาจารย์ ชาญวิทย์ ได้ขออภัยไว้อีกครั้งหนึ่งแล้ว
สมาคมอ๊ามภูเก็ตเห็นว่า แม้นการกระทำดังกล่าว จะเป็นการกระทำโดยส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับองค์กรคริสตจักรใดๆ ก็ตาม แต่ประเด็นตามโพสต์นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา อันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นในสังคมได้ นับว่าเป็นความโชคดีที่สังคมชาวภูเก็ต เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ทุกความเชื่อ ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันมานับร้อยปี ด้วยความรักความเข้าใจ และเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกันมาโดยตลอด จึงดำรงสังคมเช่นนี้ได้มากว่า 200 ปี
สมาคมอ๊ามภูเก็ตหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะไม่มีเหตุการณ์ที่นำความเชื่อ ความศรัทธาของบุคคล มาเป็นประเด็นพิพาททางศาสนาให้เกิดความแตกแยกในสังคมเช่นนี้อีกต่อไป.
ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก สมาคมอ๊ามภูเก็ต - 普吉庵廟協會