• พฤติกรรมรุนแรงในเด็ก ปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข
  • พบหลายปัจจัย ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความรุนแรง
  • จิตแพทย์ แนะใส่ใจ หมั่นสังเกต พูดคุยสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กได้

จากกรณี เด็กชายวัย 14 หลอน นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง ใช้ปืนยิงผู้คนภายในห้างสยามพารากอน ทำให้คนที่อยู่ภายในห้างวิ่งหนีตายออกมา บางส่วนหลบซ่อนตัวตามยุทธวิธีที่ได้รับคำแนะนำมาก่อนหน้านี้ ก่อนเจ้าหน้าที่คุมตัวเอาไว้ได้ และพบผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ทั้งนี้ ในโลกโซเชียลมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากอะไรกันแน่ บางส่วนบอกด้วยว่า อย่าเพิ่งสรุปว่า การที่เด็กก่อพฤติกรรมรุนแรงนี้ เพราะเด็กติดเกม เนื่องจากอาจจะทำให้ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไรกันแน่


เกี่ยวกับพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กนี้ แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ จาก Bangkok Mental Health Hospital (BMHH) เผยว่า ที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่น หลายกรณีรุนแรงจนถึงขั้นอีกฝ่ายเสียชีวิต สาเหตุของพฤติกรรมรุนแรงในเด็กและวัยรุ่น มีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงกันหลายๆ อย่าง ไม่อาจตอบได้ทีเดียวว่ามาจากปัจจัยใดมากกว่ากัน 

...

โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความรุนแรง ได้แก่

  • เคยมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงมาก่อน
  • เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวหรือสังคมใกล้ตัว 
  • เป็นเหยื่อการถูกล้อเลียน
  • พันธุกรรม ถ้ามีคนในครอบครัวควบคุมอารมณ์ได้ยาก เคยมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง 
  • สื่อที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสื่อในทีวี ภาพยนตร์ หรือเกม
  • การใช้สารเสพติดบางอย่าง ยาบางชนิด แอลกอฮอล์
  • มีปืนไว้ในบ้านหรือใกล้ตัว
  • ความเครียดในครอบครัว เช่น เศรษฐฐานะ ครอบครัวยากลำบาก ผู้ปกครองแยกทางกัน หรือเป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว ตกงาน และไม่มีญาติพี่น้องที่สามารถให้การช่วยเหลือได้
  • สมองกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ  


ในกรณีนี้คนรอบข้างหรือในคนครอบครัว ควรสังเกตบุตรหลานอย่างใกล้ชิดว่า มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมรุนแรงหรือไม่ โดยประเมินได้จากการที่เด็กแสดงอารมณ์โกรธอย่างรุนแรงมากกว่าปกติ, มีการระเบิดอารมณ์ที่บ่อยขึ้น, หงุดหงิดงุ่นง่าน พลุ่งพล่าน อยู่ไม่สุข, หุนหันพลันแล่น ควบคุมความโกรธ/อารมณ์ไม่ได้, ถูกกระตุ้นอารมณ์ได้ง่าย, พฤติกรรมแปลกไปกว่าเดิม เช่น พูดน้อยลงหรือมากขึ้น นิ่งลง ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออก อยู่ที่ความสามารถทางสติปัญญาในการวางแผนด้วย 

วิธีรับมือบุตรหลานที่มีพฤติกรรมรุนแรง

แพทย์หญิงอริยาภรณ์ เผยต่อว่า เมื่อผู้ปกครอง หรือคนใกล้ชิด รู้สึกว่าเด็กมีพฤติกรรมแปลกไป ควรจะพาไปประเมินอย่างละเอียดโดยจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ซึ่งการเข้ารับการรักษาเร็ว จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดความรุนแรงได้

โดยเป้าหมายของการรักษา คือ ช่วยให้เด็กเรียนรู้การควบคุมความโกรธ การแสดงออกความไม่พอใจได้อย่างเหมาะสม ให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองและยอมรับผลของการกระทำนั้น เช่น กำหนดข้อตกลงบทลงโทษของการทำผิด และคุยต่อว่า สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อไปอย่างไร หากอยู่ในสังคมที่ใหญ่ขึ้นไป นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน ปัญหาของสังคมรอบข้าง ก็ควรได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม 

การป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง 

  • พฤติกรรมความรุนแรงจะลดลง หากสามารถจัดการปัจจัยเสี่ยงได้
  • สิ่งสำคัญคือการลดความรุนแรงในสถานการณ์ต่างๆ ที่เด็กต้องได้เจอ เช่น ความรุนแรงในบ้าน ในสังคม ในสื่อ เพราะความรุนแรงนำมาสู่ความรุนแรง
  • นอกจากนี้ปัจจัยอื่นที่สามารถช่วยลดพฤติกรรมรุนแรงในเด็กได้ เช่น การป้องกันการทารุณกรรมเด็กโดยผู้ปกครองควรสอนเด็กว่าอะไรคือเข้าข่ายทำร้ายเด็ก เช่น การมาจับตัวในส่วนที่ไม่ควรจับ หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นให้เด็กมาแจ้งพ่อแม่ หรือให้วิ่งหนีไปอยู่กับกลุ่มคนอื่นที่ปลอดภัยกว่า และให้ความรู้ผู้ปกครองในการทำโทษเด็กอย่างเหมาะสม รูปแบบไหนเป็นเพียงการสั่งสอน และรูปแบบใดรุนแรงเกินไปจนเข้าข่ายทารุณกรรม
  • ให้ความรู้ทางเพศแก่เด็กวัยรุ่น
  • หากสังเกตพบแนวโน้มที่เด็กและวัยรุ่นจะก่อความรุนแรง ให้พูดคุยเพื่อเข้าสู่กระบวนการการช่วยเหลือต่อไป
  • สังเกตและชวนพูดคุยมุมมองของเด็กต่อความรุนแรงในสื่อที่เด็กรับ ไม่ว่าจะเป็น สื่อออนไลน์ โทรทัศน์ เกม หรือภาพยนตร์
  • ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลกับเด็ก ถ้าสามารถพูดคุยกันได้และรับรู้แนวโน้มความสนใจของเด็ก มีทัศนคติที่ดีในเรื่องการดูแลเด็ก การพบแพทย์ การทานยา
  • ในช่วงวัยเด็ก ถ้าผู้ปกครองให้การชื่นชม/ยอมรับ ในสิ่งที่เด็กทำได้ดีและเหมาะสม เช่น โดยแนวโน้มเด็กชอบใช้กำลัง แต่ถ้าเด็กไปใช้กำลังกับสิ่งที่สังคมยอมรับได้ เช่น การเล่นกีฬา ก็จะทำให้แนวโน้มการเกิดความรุนแรงลดลง

แพทย์หญิงอริยาภรณ์ บอกด้วยว่า ทุกคนมีส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กได้ แค่ใส่ใจ หมั่นสังเกตและพูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ แต่หากพบว่ามีความเสี่ยงควรพาไปประเมินกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อลดความสูญเสียหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต