พนักงานขับรถ กระเป๋ารถเมล์ ชี้แจงเหตุผล ปล่อยเด็กเป็นลมไว้ริมถนน ด้านขนส่ง สั่งเปรียบเทียบปรับ-ตัดคะแนน และให้เข้าอบรมจิตสำนึกฯ อีก 3 ชม.
วันที่ 22 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพ นักเรียนชายที่เป็นลมบนรถเมล์สาย 75 เส้นทางวัดพุทธบูชา-หัวลำโพง จากนั้นกระเป๋ารถเมล์ได้นำน้องลงมาปล่อยไว้ข้างถนน แล้วขับออกไป โชคดีที่พลเมืองดีมาช่วยไว้ กระทั่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ทำเกินไปหรือไม่ ซึ่งต่อมาได้รับการชี้แจงจากผู้ให้บริการรถเมล์ ว่า ทราบเรื่องและได้ทำการตักเตือนพนักงานคนดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นพนักงานไม่ทราบ และไม่มีความรู้ขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อมีผู้โดยสารเป็นลมบนรถ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด จากการตรวจสอบของ กรมการขนส่งทางบก พบว่า รถคันดังกล่าว เป็นรถโดยสารประจำทางร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สาย 75 เส้นทางวัดพุทธบูชา-หัวลำโพง หมายเลขทะเบียน 16-5963 กทม. เหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2566 เวลา 18.15 น. ณ บริเวณป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางใกล้ สน.วัดพระยาไกร
ล่าสุด กรมการขนส่งทางบก โดยกองตรวจการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้เรียกพนักงานขับรถโดยสารคันดังกล่าว คือ นายอุกกิม ลาภจิตร และพนักงานเก็บค่าโดยสาร คือ นางละม่อม พิพ่วนนอก มารายงานตัวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง โดยพนักงานเก็บค่าโดยสารได้ให้การว่าเด็กชายที่เป็นลมขึ้นรถมาจากป้ายฯ หน้าห้างโรบินสัน บางรัก จะไปลงที่ซอยประชาอุทิศ 27 โดยขณะนั้นการจราจรติดขัดและคนบนรถค่อนข้างแน่น เมื่อมาถึงบริเวณห้างเอเชียทีค เด็กชายได้เข้ามาบอกกับตนว่ารู้สึกเวียนหัวจะอาเจียน ขอลงจากรถ จึงแจ้งพนักงานขับรถให้จอดป้าย โดยหลังจากเด็กชายลงจากรถแล้วได้ทรุดตัวลงนั่งที่ริมทางเท้า ยอมรับว่าไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก เพียงต้องการอาเจียนเท่านั้น
ส่วนพนักงานขับรถให้การว่าเมื่อเด็กชายลงจากรถแล้วได้ขับรถออกไปทันทีเนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงชั่วโมงเร่งด่วน จึงไม่ได้หยุดรถให้ความช่วยเหลือ
กองตรวจการขนส่งทางบก พิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ฐานไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 102(4)) ที่กำหนดให้ผู้ประจำรถจะต้องดูแลผู้โดยสารให้ได้รับความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร กรณีที่เกิดอุบัติภัยใดๆ ขึ้นจะต้องให้ความช่วยเหลือให้พ้นจากอุบัติภัยนั้นก่อน จึงได้ดำเนินการ ดังนี้
1. ลงโทษเปรียบเทียบปรับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร คนละ 1,000 บาท (รวมเป็นเงิน 2,000 บาท)
2. ตัดคะแนนความประพฤติผู้ขับรถ 10 คะแนน
3. ส่งพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารเข้ารับการอบรมจิตสำนึกความปลอดภัยและการให้บริการประชาชน เป็นเวลา 3 ชั่วโมง และกำชับให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
...