กทม. จับมือ SCG เปิดกิจกรรม "แม่น้ำเจ้าพระยา น่ามอง ปราศจากขยะ" สร้างจิตสำนึก คัดแยก-ลดทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา
วันที่ 20 กันยายน 2566 เวลา 16.00 น. มีรายงานว่า นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม "แม่น้ำเจ้าพระยา น่ามอง ปราศจากขยะ" ซึ่งกรุงเทพมหานครร่วมกับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) จัดขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกและตระหนักให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในการลดทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายชูโชค ศิวะคุณากร ผู้บริหาร SCG ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารเขตพระนคร คณะผู้บริหาร SCG ผู้แทนกรมเจ้าท่า และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ บริเวณท่าเรือท่าช้าง เขตพระนคร
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ SCG จัดโครงการแม่น้ำเจ้าพระยา น่ามอง ปราศจากขยะ เพื่อส่งเสริม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยวประเทศไทย เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นสายน้ำหลักของวิถีชีวิตขาวไทย ที่เป็นจุดดึงดูด และถือเป็น Landmark สำคัญสำหรับผู้ที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดย SCG พร้อมมีส่วนร่วมในการสนับสนุนนวัตกรรม และเทคโนโลยีในการนำมาใช้ในการช่วยกำจัดขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกของประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวบริเวณโดยรอบท่าเรือต่างๆ ผ่านการมอบถังขยะที่มีการคัดแยกประเภทขยะเป็นขยะเปียก ขยะรีไซเคิล และขยะทั่วไป จำนวน 12 ชุด ชุดละ 3 ถัง ให้แก่กรุงเทพมหานครนำไปตั้งตามจุดท่าเรือสำคัญๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สัญจรทางเรือ และนักท่องเที่ยวให้มีการคัดแยกขยะ และทิ้งขยะให้เป็นที่ ลดการทิ้งลงในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เรื่องการคัดแยกขยะขยายไปในระดับประเทศ รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนรอบข้างให้มีการตระหนัก และสร้างจิตสำนึกในเรื่องของการแยกขยะ
...
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บได้เฉลี่ย 10-25 ตันต่อวัน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศในแม่น้ำ และทะเล ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยแยกขยะก่อนทิ้ง ทิ้งให้ถูกที่ ถูกถัง ถูกเวลา ไม่ทิ้งขยะลงในที่ว่างที่สาธารณะ และแม่น้ำ คู คลอง ลดปัญหาขยะไหลลงสู่แม่น้ำ คู คลอง และทะเล ซึ่งจะทำให้แม่น้ำสะอาดปราศจากขยะ ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น เพราะการท่องเที่ยวทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางมายังประเทศไทย
ดังนั้นเราจึงควรมาให้ความรู้และความสำคัญกับการทิ้งขยะแก่ประชาชนและของนักท่องเที่ยวด้วย เพราะถ้าประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่ทิ้งขยะลงถังที่จัดไว้ให้ ขยะเหล่านี้ก็จะลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ยากต่อการจัดเก็บ และเป็นปัญหาที่กรุงเทพมหานครจะต้องกำจัด และส่งผลให้เป็นปัญหาต่อระบบนเวศทางทะเลด้วย ต้องขอขอบคุณ บริษัท ปูนชีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กรมเจ้าท่า และหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ให้ความสำคัญในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือในท่าเรือต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อไป.