เตือนภัย มิจฉาชีพใช้กลอุบายอ้างเป็นเจ้าของร้านกาแฟดังเมืองอุดรฯ หลอกตีสนิท ตุ๋นเงินข้าราชการเกษียณร่วมลงทุนผ่านแอปฯ สูญเงิน 2 ล้าน 

วันที่ 18 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ ร้านบ้านนาคาเฟ่ บ้านหมูม่น ต.หมูม่น อ.เมือง จ.อุดรธานี พบกับ น.ส.สุชาธิษณ์ สุวิตธรรม หรือแจม อายุ 34 ปี เจ้าของร้าน หลังจากทราบว่ามีการโพสต์เตือนภัยผ่านทางเฟซบุ๊กว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพสมัครใช้เฟซบุ๊กแอบอ้างเป็นเจ้าของร้านบ้านนาคาเฟ่ แต่ใช้ภาพบุคคลอื่นมาแสดง แล้วตีสนิทเหยื่อจนมีการแอดไลน์และพูดคุยหว่านล้อมให้ร่วมลงทุนขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชันชื่อดัง จนมีคนหลงเชื่อถูกหลอกโอนเงินไปกว่า 2 ล้านบาท โดยมีคนอื่นที่ยังไม่หลงเชื่อโทรศัพท์มาสอบถามเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่เป็นระยะ จึงออกมาโพสต์เตือนประชาชนว่ามิจฉาชีพมีการเปลี่ยนอุบายในการหลอกลวง  

คุณแจม เล่าว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เวลาประมาณ 20.00 น. หลังจากปิดร้านและนอนพักผ่อนอยู่ในบ้าน มีผู้หญิงโทรศัพท์มาหา แล้วถามหาผู้ชายชื่อ "เอก" ตนเองก็บอกว่าไม่รู้จัก ที่บ้านไม่มีคนชื่อนี้ เขาบอกว่าคนชื่อเอกเป็นเจ้าของร้านบ้านนาคาเฟ่ ตนจึงชี้แจงไปว่าร้านมีตนเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว ไม่มีหุ้นส่วน เขาจึงตกใจและบอกว่าน่าจะถูกหลอก เพราะได้ร่วมลงทุนขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชันชื่อดัง ซึ่งโอนเงินไปมากกว่า 2 ล้านบาทแล้ว ตอนนี้เขาก็อยู่หน้าร้าน คนชื่อเอกบอกให้มาหาที่ร้าน

...

"ตอนนั้นตนเองกลัวอันตรายจึงไม่ได้ออกไปหาหญิงคนนั้นที่หน้าร้าน เขาบอกจะกลับไปนอนโรงแรม ตนก็ห่วงกลัวพี่เขาจะคิดสั้น ก็พยายามโทรคุยและแอดไลน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติม กระทั่งช่วงเช้าวันที่ 16 กันยายน ได้นัดเจอกัน ตนเองและพี่ผู้หญิงจึงพากันไปแจ้งความที่ สภ.เมืองอุดรธานี พี่เขาไม่ขอเปิดเผยข้อมูล บอกเพียงว่าเป็นข้าราชการเกษียณ อาศัยอยู่ที่ จ.ลพบุรี ตนสงสารพี่เขามากที่ต้องสูญเงินไปมากขนาดนั้น พี่เขาน่าจะตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนจะตัดสินใจโอนเงิน พี่เขาไม่ได้โอนไปครั้งเดียว แต่ทยอยโอนไปให้ ตามที่เขาบอกให้ลงทุน และมีหลายบัญชี คาดว่าจะเป็นบัญชีม้า"

คุณแจม เล่าอีกว่า มิจฉาชีพกลุ่มนี้น่าจะอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากใช้อุบายอื่นๆ มาหลอกลวงคนทั่วไป ทั้งคอลเซ็นเตอร์ โรแมนซ์สแกม ตอนนี้ใช้เฟซบุ๊กนำภาพบุคคลอื่นมาแอบอ้างเป็นเจ้าของร้านคาเฟ่ชื่อดังใน จ.อุดรธานี ส่วนเคสตน นายเอกก็อ้างว่าเป็นสามีเก่าที่เลิกรากันไป แต่ยังบริหารร่วมกัน เขาจะพูดคุยจนสนิท มักจะอ้างว่ามีปัญหาการเงิน แต่ก็มีธุรกิจขายของผ่านแอปฯ ที่มีรายได้มากพอที่จะประคองธุรกิจ เพื่อให้คนหลงเชื่อและร่วมลงทุนในแอปฯ ซึ่งอ้างว่าเป็นแอปฯ ของต่างประเทศ แต่มิจฉาชีพทำแอปฯ ขึ้นมาเอง ซึ่งทำเหมือนมาก ทุกการพูดคุยจะเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด

"หลังจากเคสของพี่ผู้หญิงที่ลพบุรี ก็มีผู้เสียหายรายอื่นโทรศัพท์มาหาตนอีกเป็นจำนวนมาก โทรศัพท์เข้ามาขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริง หรือเท็จ ซึ่งตนก็ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง ที่ร้านมีตนเป็นเจ้าของคนเดียว โชคดีว่ายังมีคนอื่นที่ไม่หลงเชื่อมิจฉาชีพกลุ่มนี้ และเพื่อนๆ ในวงการร้าคาเฟ่ก็ได้ให้ข้อมูลมาเช่นกันว่าถูกแอบอ้างในลักษณะนี้ ซึ่งเป็นร้านคาเฟ่ชื่อดังหลายแห่งในอุดรฯ ตนจึงอยากออกมาเตือนประชาชนคนอื่นว่าไม่ให้หลงเชื่อ เลยตัดสินใจโพสต์เพื่อเตือนภัย".