อ.ธรณ์ เผยภาพไมโครพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้ขยะทะเลและไมโครพลาสติกเป็นภัยเงียบที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขอช่วยกันลดขยะ

วันที่ 17 กันยายน 2566 มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพและข้อความผ่านแฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat ถึงไมโครพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยระบุว่า เช้าวันหยุด เราไปแม่น้ำกันเถอะ คนอื่นมาเที่ยวรับลมกินกุ้ง ธรณ์มาลากไมโครพลาสติก คณะประมงร่วมกับ ปตท.สผ. สำรวจไมโครพลาสติกในแม่น้ำ/ชายฝั่ง/กลางอ่าวไทย เป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ข้อมูลทั้งจากเราและจากเพื่อนๆ นักวิจัย รายงานว่า ไมโครพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาในบางที่บางเวลา อาจสูงถึง 50-100 ชิ้นต่อลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจัยในแม่น้ำแปรผันมากครับ ปริมาณเด้งขึ้นเด้งลงเป็นจังหวะ ขึ้นกับฤดูกาล กระแสน้ำ ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูภาพรวมแล้ว ปริมาณไมโครพลาสติกต่อหน่วยที่พบในแม่น้ำมากกว่าที่กลางอ่าวไทย เช่น ทะเลรอบแท่นผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ประมาณ 8-20 เท่า (ข้อมูลเมื่อ 2 ปีก่อน)

เหตุผลตอบง่าย น้ำในแม่น้ำน้อยกว่าทะเลมากมาย ไมโครพลาสติกที่มาจากต้นน้ำหลากหลายสายล้วนมารวมกันที่เจ้าพระยา พอออกทะเลก็กระจายไป ทำให้ในทะเลมีปริมาณไมโครพลาสติก/หน่วย น้อยกว่าในแม่น้ำ สัดส่วนของไมโครพลาสติกที่พบ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงหรือชนิดของพลาสติกก็ต่างกันด้วยครับ เพราะในทะเลยังมีขยะอื่นๆ เช่น เศษอวน ฯลฯ ทำให้สัดส่วนของไมโครพลาสติกที่พบเปลี่ยนแปลงไป

...

การศึกษาให้ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ในแม่น้ำ ชายฝั่ง หมู่เกาะท่องเที่ยว ไปจนถึงแท่นผลิตปิโตรเลียมห่างฝั่งไป 150-200 กิโลเมตร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจ

เมื่อเข้าใจก็สามารถรายงานสถานการณ์เพื่อจัดการปัญหาได้ตรงสาเหตุ เพราะขยะทะเลและไมโครพลาสติกเป็นภัยเงียบที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือไปจากสถานการณ์โลกร้อน การอยู่เฉยๆ ปล่อยให้ปัญหาสะสมไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัญหาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของเราและลูกหลาน

เช้าวันหยุดธรณ์จึงมาแม่น้ำ เพื่อรับลมชมไมโครพลาสติก และอยากบอกว่า ช่วยกันลดขยะเถิดครับ เท่าที่เห็นคร่าวๆ มันเยอะจริงๆ 

ขอบคุณ ปตท.สผ. สำหรับโครงการติดตามไมโครพลาสติกจากแม่น้ำจรดกลางทะเลครับ

ขอบคุณเพื่อนธรณ์ที่ช่วยกันซื้อเสื้อระดมทุนซื้อเครื่องเก็บไมโครพลาสติกเมื่อ 4 ปีก่อน ถึงปัจจุบันยังคงใช้งานอยู่ครับ.

ข้อมูลจาก แฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat