ฟังอีกมุม แจงดราม่าค่าส่วยเก็บเห็ด เขาอังคาร จ.บุรีรัมย์ เผยทางชุมชนเก็บเงินจริง นำเงินไปพัฒนาป่า ยืนยันมีระเบียบชัดเจน ทุกอย่างถูกต้อง


วันที่ 17 ก.ย. 66 มีรายงานว่า จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ภาพด่านเก็บเงิน พร้อมเขียนข้อความว่า “โดนเก็บค่าเห็ดสองด่านตะวันตกกับตะวันออก พี่น้องข่อยได้เห็ดสองดอก ใครที่ยังไม่รู้โปรดรู้ก่อนที่จะไปเด้อค่ะ สำหรับคนที่จะไปเก็บเห็ดมีสองด่านคนละเขต ถ้าใครจะไปเขาอังคารให้ไปอีกทางจะได้ไม่ผ่านด่านโคกพวง ถ้ามาเขาคอดให้มาทางโคกพวงได้เลยค่ะ” ซึ่งหลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ได้มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบบริเวณทางขึ้นเขาอังคาร ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นป่าเห็ดที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า มีผู้คนจากทุกสารทิศ ทั้งขี่รถมอเตอร์ไซค์และเหมารถกระบะมากันเป็นจำนวนมาก รอจ่ายเงินค่าเข้าไปเก็บเห็ด จนรถติดยาวกว่า 1 กม. ซึ่งจากการสอบถามทราบว่า คณะกรรมการของหมู่บ้านจะเก็บค่าผ่านทางคนละ 20 บาท ในแต่ละวันจะมีรถพาคนมาเก็บเห็ดประมาณ 80-100 คัน มีคนประมาณ 800-1,000 คนต่อวันที่เข้าไปเก็บเห็ดในป่านี้

...

นายพลภัทร ชัสวิเศษ เลขาฯ ป่าชุมชนเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ป่าเขาอังคารแห่งนี้ มี 6 ชุมชนที่รับผิดชอบร่วมกัน มีการเก็บเงินค่าเข้าไปเก็บเห็ดจริง เป็นค่าใช้บริการ เงินที่ได้ไปจะเข้าคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนกลาง ซึ่งแต่ละหมู่บ้าน แต่ละป่า จะมีคณะกรรมการคนละชุด 

ซึ่งแต่ละคณะกรรมการจะไปวางระเบียบการจัดการบริหารอย่างไร ส่วนใหญ่จะเอาไปพัฒนาป่าในพื้นที่ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ การปลูกป่าเพิ่ม การทำแนวกันไฟ รวมถึงชุดลาดตระเวน ที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ออกไปอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ในช่วงที่เห็ดออกเยอะคือช่วงนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องออกลาดตระเวนปีละ 1-2 ครั้ง แต่ถ้าเงินเหลือก็จะเอาเข้าไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง

นายพลภัทร กล่าวด้วยว่า เท่าที่สอบถามผู้ที่มาเก็บเห็ดจากที่อื่น พบว่าแต่ละพื้นที่มีป่าเหมือนกันหมด แต่ไม่มีเห็ดให้เก็บ ส่วนตัวคิดว่าชุมชนนั้นไม่มีความสามารถบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมาได้

สิ่งที่เราอยากจะสื่อสารในการเก็บค่าบริการคือ อยากให้ทุกคนที่มาเก็บเห็ด ได้สร้างจิตสำนึก ให้เขากลับไปคิดว่า บ้านเขาก็มีป่า ทำไมไม่ไปบริหารจัดการ ให้ป่าของตัวเองมีเห็ดแบบนี้บ้าง ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเก็บถึงที่นี่ บางคนเดินทางมาไกลกว่า 80 กม.

น.ส.สุพรรณษา จูกูร กรรมการประธานป่าชุมชน กล่าวว่า พื้นที่เขาอังคาร มีเนื้อที่ประมาณ 3,430 ไร่ เห็ดของป่านี้จะมีความพิเศษกว่าเห็ดป่าที่อื่น เพราะเป็นป่าภูเขาไฟ ลักษณะเห็ดจะล้างดินออกง่าย รสชาติอร่อย มีสารบางอย่างที่ดีต่อสุขภาพแบบเห็ดที่อื่นไม่มี โดยในแต่ละปีเห็ดจะออกในช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค. และเดือน ก.ย.-ต.ค. ทุกปี 

โดยเฉพาะเขาอังคาร มีโบราณสถาน มีธรรมชาติและอากาศที่ดีไม่แพ้เขาใหญ่ นักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ สามารถมาเที่ยวและสัมผัสด้วยตนเองได้ กรณีดราม่าค่าส่วยเก็บเห็ด ทางชุมชนมีระเบียบชัดเจน มีกฎหมายป่าชุมชนรองรับอยู่แล้ว ทุกอย่างถูกต้อง

ด้าน นายวิเชษฐ์ เภตรา นายก อบต.เจริญสุข กล่าวว่า ส่วนหนึ่งดีใจที่มีผู้คนรู้ว่าป่าเขาอังคารแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังจะสะท้อนไปยังป่าชุมชนอื่นๆ ว่า ควรจะปรับปรุงหรือฟื้นป่าของตนเองอย่างไร ให้ป่ามาเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชนได้.