สรุปจบ ไม่โค่นต้นยางนาอายุกว่าร้อยปี สร้างเหล็กค้ำยัน ปล่อยให้เป็นที่อาศัยฝูง "นกแก้วโม่ง" เตรียมผลักดันขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวดูนกธรรมชาติของจังหวัดนนทบุรีเพิ่มอีกจุด
วันที่ 11 กันยายน 2566 มีรายงานว่า จากกรณีที่นักอนุรักษ์นกแก้วโม่งในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี พบว่ามีฝูงนกแก้วโม่งประมาณ 6-7 คู่ มาอาศัยขุดโพรงทำรังอยู่บนยอดต้นยางนาอายุนับร้อยปี ภายในวัดมะเดื่อ ต.บางรักใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี แต่เกิดเสียงคัดค้านจากชาวบ้านในบางส่วนในพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าต้นยางนาอายุนับร้อยปีที่ยืนต้นตายซากขนาดความสูงใหญ่จะล้มโค่นลงมาใส่ผู้คนที่สัญจรเดินทางไปมา รวมทั้งโรงเรียนซึ่งมีเด็กเล็ก และพื้นที่ของวัดที่มีพระเณรอาศัยอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายกับชีวิตและทรัพย์สินที่อยู่ในรัศมีของต้นยางนาต้นดังกล่าว
ในขณะที่นักอนุรักษ์นกแก้วโม่งเอง เกรงว่าการโค่นต้นยางนาทิ้งจะทำให้พื้นที่อยู่อาศัยของนกแก้วโม่งหายไป รวมทั้งส่งผลกระทบกับการเพิ่มจำนวนนกแก้วโม่งฝูงนี้ เนื่องจากกำลังเข้าฤดูจับคู่ผสมพันธุ์และออกไข่ หลังจากนั้นนกแก้วโม่งจะใช้เวลาในการฟักไข่และเลี้ยงดูลูกนกจนโตก่อนจะบินย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น และจะกลับมาอีกครั้งในฤดูผสมพันธุ์เดือนสิงหาคมของทุกปี
"นกแก้วโม่ง" นกหายากในไทย สัตว์ป่าคุ้มครองควรแก่การอนุรักษ์
จากข้อมูลของ แฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า นกแก้วโม่ง Alexandrine Parakeet มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psittacula eupatria ชื่อชนิดเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ eu แปลว่า ดี และ patri,-a,-o แปลว่า บ้านเกิดเมืองนอน หรือถิ่นที่อยู่อาศัย ความหมายก็คือ “อยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยที่ดีหรือบริเวณป่าที่สมบูรณ์” หรืออาจมาจากคำว่า eupatereia ซึ่งแปลว่าลูกสาวขุนนาง เป็นชนิดที่พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ทั่วโลกมีนกแก้วโม่ง 5 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบชนิดย่อยเดียว คือ Psittacula eupatria siamensis (Boden Kloss) ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่คือ ประเทศไทย ซึ่งพบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกที่สถานีรถไฟลาดบัวขาว จ.นครราชสีมา นกแก้วโม่งมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เกาะอันดามัน และ Seychelles ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบในพม่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว
...
นกแก้วโม่ง เป็นนกขนาดกลาง (50-51 ซม.) เป็นนกแก้วที่ขนหางคู่กลางยาวมาก ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย เป็นนกแก้วที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปากงุ้มมีสีแดง บริเวณไหล่มีแถบสีแดงพาด ขาและนิ้วสีเหลือง ตัวผู้ร่างกายสีเขียว บริเวณคอหอยมีสีดำ มีลายแถบรอบคอสีแดง ตัวเมียลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่บริเวณคอหอยมีสีเขียว ไม่มีลายแถบรอบคอสีแดงแต่อย่างใด ตัวไม่เต็มวัยลักษณะคล้ายกับตัวเมีย แต่สีสันจะทึมกว่า มีลายพาดที่ไหล่สีไม่แดงเข้มมากนักเช่นเดียวกันกับสีของปาก สถานภาพนกแก้วโม่งเป็นนกประจำถิ่นของไทย พบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันหาได้ยาก และปริมาณค่อนข้างน้อย ตามกฎหมายนกแก้วโม่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
หลายฝ่ายประชุมหาทางออก
สำหรับปัญหาความเห็นแต่กันระหว่างชาวบ้านที่เห็นคัดค้านกับนักอนุรักษ์ที่ต้องการให้รักษาต้นยางนาไว้ให้นกแก้วโม่งฝูงนี้ ในขณะที่ทางวัดเองก็กลายเป็นคนกลางในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ต้นยางนาตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัด ทำให้ทั้ง 3 ฝ่ายได้นัดหมายเจรจาหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวร่วมกันในวันนี้
ล่าสุด เมื่อเวลา 10.30 น. ของวันนี้ (11 กันยายน 2566) ที่ห้องประชุมวัดมะเดื่อ ต.บางรักใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี พระครูนนทปริยัติ วิสุทธิ จ้าอาวาสวัดมะเดื่อ นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สส.นนทบุรี นายวัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี นายกิติภูมิ แสงเดือน นายก อบต.บางรักใหญ่ นายนิติ ธรรมจิตต์ นักวิชาการสมาคมรุกขกรรมไทย และ ดร.ศรินทร์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ นักอนุรักษ์นกแก้วโม่ง ร่วมกันหารือทางออกในเรื่องนี้
โดย พระครูนนทปริยัติวิสุทธิ เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวออกไปในโซเชียลแล้ว มีคนไม่เข้าใจเป็นจำนวนมาก เข้ามาคอมเมนต์โจมตีวัดในทำนองที่ว่าวัดเป็นเขตอภัยทานแล้วทำไมไม่ยอมให้นกอยู่อาศัย จะไปตัดต้นไม้ไล่นกพันธุ์หายากไปทำไม ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นแบบคนที่ไม่เข้าใจเรื่องราวเลย วัดไม่ได้ต้องการที่จะตัดต้นยางนาอายุเป็นร้อยๆ ปีที่อยู่คู่กับวัดมาเพื่อไล่นก
แต่เป็นเพราะต้นยางนาต้นนี้ได้ยืนต้นตายมานานกว่า 20 ปีแล้ว ลำต้นก็เริ่มผุพังลงรวมทั้งกิ่งก้านต่างๆ ซึ่งทางวัดเองก็เกรงว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับผู้คนในชุมชน โรงเรียนชั้นประถม และพระเณรที่อาศัยอยู่ภายในวัด เพราะด้วยขนาดลำต้นที่มีความยาวสูงใหญ่ ถ้าต้นยางนาเจอแรงลมพายุฝนเข้า รัศมีที่ต้นยางนาจะล้มใส่มีทั้งโรงเรียน ถนนที่ผู้คนสัญจร รวมทั้งกุฏิพระ และโบสถ์ใหม่ที่กำลังสร้าง ล้มใส่สิ่งปลูกสร้างมาก็พังเสียหาย ล้มใส่ผู้คนมาก็คงไม่เหลือ เพราะขนาดที่ผ่านแค่กิ่งจากต้นยางนาร่วงหล่นมาใส่รถของคนที่เดินทางมาทำบุญกับทางวัด ทางวัดยังต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นเลย เพราะต้นยางต้นนี้อยู่ในพื้นที่วัดไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ จึงอยากให้ทางนักอนุรักษ์เห็นใจทางวัดด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหากมีวิธีการอื่นในการแก้ไขปัญหาให้ทางวัดไม่ต้องโค่นต้นยางนาออกเพื่อให้เป็นที่พักของนกแก้วโม่งสามารถอยูาร่วมกันได้โดยไม่เป็นอันตรายกับชุมชน ทางวัดยินดีที่จะให้ความร่วมมือเช่นกัน
ด้าน ดร.ศรินทร์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ นักอนุรักษ์นกแก้วโม่ง กล่าวว่า จากการที่ตนเองและทีมงานติดตามจำนวนประชากรของนกแก้วโม่งในจังหวัดนนทบุรี พบว่าปัจจุบันมีฝูงนกแก้วโม่งมารวมฝูงกันพักอาศัยอยู่ที่เฉพาะต้นยางนาใน 4 จุดด้วยกันคือ ฝูงที่วัดสวนใหญ่ในอำเภอบางกรวย ฝูงที่วัดสะพานสูงในอำเภอปากเร็ด ฝูงที่วัดไผ่เหลืองกับฝูงที่วัดมะเดื่อ ในอำเภอบางบัวทอง ซึ่งธรรมชาติของนกแก้วโม่งจะอาศัยขุดโพรงทำรังอยู่บนต้นยางนาที่สูงเท่านั้น ไม่พบว่ามีการไปสร้างรัง หรือขุดโพรงที่ต้นไม้ชนิดอื่น ซึ่งหลังนกแก้วโม่งเริ่มจับคู่ขุดโพรงทำรังแล้วก็จะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่
จากนั้นก็จะใช้เวลาในการฟักไข่เลี้ยงดูลูกนกอยู่ในโพรงไปจนกว่าลูกนกจะเริ่มออกบินหาอาหารได้ด้วยตัวเอง การตัดโค่นต้นยางนาทิ้งเพราะเหมือนกับการขับไล่ให้นกแก้วโม่งเหล่านี้ไม่มีที่อยู่อาศัย รวมทั้งอาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกนกที่ยังไม่สามารถบินได้ ซึ่งนกแก้วโม่งเป็นนกที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ เพราะในธรรมชาติปัจจุบันเหลือจำนวนน้อย ตนอยากเสนอให้ทางวัดซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่มีต้นยางนาต้นนี้ตั้งอยู่หาแนวทางในการอนุรักษ์นกร่วมกันโดยไม่ต้องโค่นต้นยางนาออก
ผลสำรวจ "ต้นยางนา" อายุกว่าร้อยปี เสี่ยงล้ม สมควรโค่นตัด
ทางด้าน นายนิติ ธรรมจิตต์ นักวิชาการจากสมาคมรุกขกรรมไทย ซึ่งดูแลเกี่ยวกับต้นไม้ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจของทีมงานพบว่าต้นยางนาต้นนี้มีอายุมากกว่าร้อยปี และยืนต้นตายมาเป็นเวลานานแล้ว สภาพในโพรงของต้นยางนาเปื่อยยุ่ยเกือบจะทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะล้มลงมาได้ทุกเมื่อ เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีรอยแตกในลักษณะขวางตามลำต้น ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายและมีความเสี่ยงสูงกับผู้คนในชุมชน รวมทั้งพระเณร และสิ่งปลูกสร้างที่อย่รอบทิศของต้นยางนานี้ ซึ่งหากให้ตนพูดถึงความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการประเมินต้นไม้ต้นนี้ตามที่ตนได้ศึกษามา ไม่เกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์นก ตนเห็นว่าควรโค่นตัดทิ้งออกเพื่อความปลอดภัยของผู้คนและชุมชน
ผลักดัน "นกแก้วโม่ง" เป็นแหล่งท่องเที่ยว
นายวัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า เนื่องจากนกแก้วโม่งถือเป็นสัตว์ที่ได้รับการอนุรักษ์และคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งในจังหวัดนนทบุรีพบว่ามีอยู่ประมาณ 4 ฝูง ตามแนวคลอมอ้อม โดยจังหวัดนนทบุรีเตรียมผลักดันให้นกแก้วโม่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่อไปในอนาคตคู่กับสวนทุเรียนนนท์ ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดต่อไปได้
โดยแนวทางแก้ปัญหาในเบื้องต้นทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรีได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนรายหนึ่งที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงสร้างเหล็กค้ำยันพื้นกับต้นยางนาเอาไว้ โดยจะตัดกิ้งก้านของต้นยางนาที่ผุพังออก พร้อมกับติดตั้งรังเทียมไปยังต้นยางนาต้นอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ เพื่อในนกแก้วโม่งหาที่ทำรังแห่งใหม่ ซึ่งก็จะเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย
นายกิติภูมิ แสงเดือน นานก อบต.บางรักใหญ่ กล่าวว่า หากมีนำอุปกรณ์มาล้อมยันต้นยางนาเอาไว้แล้วเพื่อให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกแก้วโม่งซึ่งเป็นสัตว์อนุรักษ์ รวมทั้งในอนาคตต่อไปทางจังหวัดจะสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นแหล่งดูนกในพื้นที่ ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับชุมชนต่อไป เพราะทำให้ทั้งทางวัดและพื้นที่มีจุดขายที่ผู้คนจะเดินทางมาเที่ยวดูนกโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไร นอกจากการอนุรักษ์นกหายากเอาไว้ให้อยู่ในพื้นที่ ถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนไปในตัว
ทางด้าน นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สส.นนทบุรี กล่าวว่า หลังทุกฝ่ายได้พูดคุยปรับความเข้าใจกันและหาทางออกร่วมกันได้ ก็เรื่องน่ายินดี ตนในฐานะ สส.ในพื้นที่พร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลือผลักดันให้พื้นที่ขิงวัดมะเดื่อแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์กสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เป็นแหล่งดูนกหายากต่อไปในอนาคตของจังหวัดนนทบุรี ทั้งคนทั้งนกได้รับประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ทางด้าน นายมาโนช โตศิริสมบัติ อายุ 47 ปี กำนันบางรักใหญ่ สวมเสื้อขาว กล่าวว่า จากการที่ต้นยางอยู่ภายในวัด ยืนตายมานานแล้ว ทางวัดเกรงว่าจะล้มลงมาถูกประชาชนที่เข้ามาเที่ยวที่วัดและเข้ามาทำบุญจะได้รับความเสียหาย หลังจากการพูดคุยกันของหลายหน่วยงานได้ตกลงกันว่ายังไม่ได้ตัดตอนนี้ โดยให้บริษัทเข็มเหล็กทำค้ำยันต้นไม้ไว้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่นกแก้วโมงที่อยู่บนต้นยางที่ยืนต้นตายมานาแล้ว จำนวน 6 คู่ เข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ไปจนถึงเดือนเมษายน โดยในช่วงนี้จะลองให้ทางบริษัทเข็มเหล็กออกแบบมาให้ดู หลังจากสิ้นฤดูกาลผสมพันธุ์ของนกแก้ว ทางวัดก็จะตัดต้นไม้ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงของประชาชนที่เข้ามาเที่ยวและทำบุญที่วัดอาจจะเกิดอันตรายจากต้นไม้ต้นนี้ได้เพราะมีความสูงและใหญ่.