รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต่างต้องเผชิญกับความท้าทายของภาวะโลกรวน อันเนื่องจากความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและต้นทุนการผลิต จึงนับเป็นความท้าทายของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆที่จำเป็นจะต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมสู่การเสริมศักยภาพของหน่วยงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สกสว.จึงได้จัดทำบันทึกข้อเสนอแนะเรื่อง “การบริหารจัดการภัยแล้งเพื่อรับมือเอลนีโญ” ส่งมอบแก่รัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ และประชาสังคม เพื่อนำเสนอบทบาทของภาควิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันแก้ปัญหาและรับมือกับวิกฤติภัยแล้งดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ตอบสนองต่อการพัฒนาระบบการจัดการน้ำที่ทันสมัยและยั่งยืน

...

ผอ.สกสว.กล่าวอีกว่า สำหรับการรับมือภัยแล้งตามภารกิจของหน่วยงานที่มีอยู่ ยังมีช่องว่างในการดำเนินงาน การนำแนวคิด องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้สนับสนุนการวางแผนเพิ่มทางเลือกของทางออก พัฒนากำลังคนในระดับต่างๆ บูรณาการแผน และการดำเนินการด้วยแพลตฟอร์มของข้อมูล และความรู้ที่ต้องการแตกต่างกันแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องการการทดลองดำเนินงานทั้งลักษณะห้องปฏิบัติการ กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม และแซนด์บ็อกซ์ในโลกปัจจุบัน การดำเนินการในลักษณะนี้ ไม่สามารถทำได้ตามภารกิจปกติ จำต้องสนับสนุนให้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้องค์ความรู้ด้านแนวคิด ทางเลือก แนวทางปฏิบัติ เพื่อการพัฒนา อนุรักษ์ และลดภัยพิบัติ ทดลองด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องมือใหม่ๆ ที่พึงมี เพื่อใช้แก้ไข ปรับปรุงนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำจากนี้ไป

นอกจากมาตรการที่รัฐบาลพยายามดำเนินการอยู่แล้ว คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเลื่อมล้ำ วุฒิสภา มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า ควรปรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะ หน้า เป็นการจัดการความเสี่ยง เชิงระบบแทน โดยใช้ข้อมูลข่าวสารที่พยากรณ์ให้เป็นประโยชน์ ปรับการช่วยเหลือเชิงเดี่ยวเป็นการช่วยปรับตัว ยกระดับแบบเฉพาะเจาะจงและยั่งยืนมากขึ้น ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส จำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุน และควรมีมาตรการพัฒนาศักยภาพ เพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กของชุมชนเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง โดยพัฒนาทีมงานในระดับพื้นที่ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากจังหวัดและหน่วยงานด้านเทคนิค

รศ.ดร.ปัทมาวดี เสนอแนะทางออกของการบริหารจัดการภัยแล้งเพื่อรับมือเอลนีโญนั้น จะต้องปรับแนวคิดทั้งการทำแผนบูรณาการและ การจัดการแบบบูรณาการ โดยตั้งเป้าหมาย “ลดความเสี่ยง ลดความเสียหายยั่งยืนแบบยืดหยุ่น” ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และจะต้องหาทางออกแบบบูรณาการทั้งมาตรการด้านโครงสร้าง มาตรการไม่ใช้โครงสร้าง และมาตรการการจัดการไปพร้อมกัน โดยงานวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ จะต้องรวมการวางแผนบนฐานของความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ https://anyflip.com/ntuxp/gcll/