เปิดภาพ "พญากระรอกดำ" กระรอกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปรากฏกายอวดโฉม ที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อีกครั้ง หลังจากไม่ได้พบมาเป็นเวลานาน

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ พบเจอ และเก็บภาพพญากระรอกดำในธรรมชาติได้อีกครั้ง หลังไม่พบเจอในพื้นที่เป็นเวลานาน โดยกระรอกที่พบ คือ พญากระรอกดำ (Black Giant Squirrel) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Ratufa bicolor

ลักษณะทั่วไป : เป็นกระรอกขนาดใหญ่ ขนด้านบนของลำตัวมีสีน้ำตาลไหม้ ด้านล่างถึงท้องมีสีอ่อนเป็นสีครีมหรือสีส้ม หางเป็นพวงยาวใหญ่สีดำ มีหนวดสีดำยาวเห็นได้ชัด เล็บเท้าโค้งแหลมคมมาก ตัวเมียมีเต้านม 3 คู่

ถิ่นอาศัย อาหาร : พบในเนปาล อัสสัม พม่า จีนตอนใต้ เกาะไหหลำ อินโดจีน มาเลเซีย สุมาตรา ชวา และบาหลี ประเทศไทยมีมากทางภาคใต้ แถวจังหวัดตรัง เกาะภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพะงัน กาญจนบุรี และจันทบุรี ทางภาคใต้เรียก "พะแมว" เป็นสัตว์กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และกินแมลง ไข่นก

พฤติกรรม : พบเห็นได้ยาก เป็นสัตว์อยู่ในป่าดงดิบ อยู่บนต้นไม้สูง ชอบร้องทักเมื่อเห็นคนหรือสัตว์อื่น หากินตัวเดียว ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์จึงจะอยู่เป็นคู่

การสืบพันธุ์ : พญากระรอกดำผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 2 ปี ตั้งท้องนาน 28 วัน ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว ทำรังด้วยกิ่งไม้ ใบไม้แห้งตามยอดไม้สูงๆ มันจะนอนในรังเสมอ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีลูกอ่อนก็ตาม มักทำรังไว้หลายแห่ง ส่วนจะอาศัยอยู่ในรังไหน ก็แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารในบริเวณนั้น จะเลือกอาศัยอยู่ในรังซึ่งบริเวณนั้นหาอาหารได้ง่าย อายุยืน 10 กว่าปี

...

สถานภาพปัจจุบัน : เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562 ที่มาอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ จ.พังงา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)