อ.ธรณ์ นักวิชาการทางทะเล เผยคลิปประทับใจ "ปู่หัวโหนก" หรือ ปลานกแก้วหัวโหนก สายพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลก และหายากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเลไทย 

วันที่ 26 สิงหาคม 2566 มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยคลิป "ปู่หัวโหนก" ในทริปสำรวจทะเลโลซิน ดำเนินการโดยความร่วมมือจากกรมทะเลชายฝั่ง/ม.เกษตรศาสตร์, ม.อ./ม.ราม/มูลนิธิเอนไลฟ์ ภายใต้ความสนับสนุนจาก ปตท.สผ. 

โดยระบุข้อความว่า "ปู่หัวโหนก" หรือ ปลานกแก้วหัวโหนก (Green humphead parrotfish) ซึ่งเป็นปลานกแก้วใหญ่ที่สุดในโลก และหายากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเลไทย 

สำหรับปลานกแก้วหัวโหนก คือโคตรปลานกแก้ว ความยาวเต็มวัย 1.5 เมตร น้ำหนักอาจถึง 75 กิโลกรัม เป็นปลาที่อยู่กับแนวปะการังน้ำลึก/น้ำใส สมบูรณ์ ในทะเลไทยนานทีมีรายงานหน เช่น เกาะสุรินทร์ แต่สถานที่เจอประจำคงเป็นที่เกาะโลซิน เกาะไกลฝั่งที่สุดในอ่าวไทย หรือเกาะแสนล้านที่บางคนเรียกเพราะเกี่ยวข้องกับพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม ทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเดินทางไปที่นั่น เพื่อศึกษาสารพัดเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งแสนสำคัญคือพบเจอปลาหัวโหนก ปู่โสมเฝ้าทะเลแสนล้าน ว่ายังคงอยู่ดีมีสุข

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปลานกแก้วหัวโหนก ดังนี้

ทำไมเรียกปู่ปลา?

ปลานกแก้วหัวโหนกอายุยืนมาก อาจถึง 40 ปี เมื่อเทียบกับปลากระดูกแข็งด้วยกัน (ไม่นับฉลาม/กระเบน) ถือว่าเป็นระดับปู่ทวดได้เลยฮะ

ตัวใหญ่แค่ไหน? 

ยาว 1.5 เมตร หนัก 75 กก. น้ำหนักเท่าผมเลยครับ แต่เตี้ยกว่า นี่คือปลานกแก้วใหญ่ที่สุดในโลก มีอยู่แค่ชนิดเดียวเท่านั้น ทั้งโลกเจอได้เฉพาะมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและมหาสมุทรอินเดีย

...

ดูยังไงคะ ว่าเป็นปลานกแก้ว?

เด่นสุดคือฟันในปาก หนูลองสังเกตคลิปช่วงสโลว์ให้ดี จะเห็นฟันรวมเป็นแผ่นเหมือนปากนกแก้ว ยื่นออกมานอกริมฝีปาก อีกอย่างคือการว่าย สะบัดครีบเป็นจังหวะพั่บๆ ดูแล้วคล้ายนกแก้วบินจ้ะ 

ปู่กินอะไรฮะ?

ฟันแบบนี้มีไว้แทะ/ขูด หากเป็นปลานกแก้วทั่วไปจะขูดสาหร่าย/ปะการัง แต่ถ้าเป็นปู่หัวโหนกตัวใหญ่ อาจงับเข้าไปเคี้ยวในปากเหมือนเรากินขนม ไปบอกคุณแม่ให้ซื้อขนมมาให้หนูทำการทดลองเคี้ยวแบบปลานกแก้วหัวโหนกสิจ๊ะ

ทำไมปลานกแก้วสำคัญคะ?

จุดเด่นคือปลาคุมปริมาณสาหร่าย ปลานกแก้วยังช่วยสร้างทรายให้แนวปะการัง คุณปู่เป็นเทพในเรื่องนี้เลยครับ

เนื่องจากตัวใหญ่จึงกินเยอะ ปลานกแก้วหัวโหนกจะสร้างทรายปีละ 5 ตัน มากกว่าปลานกแก้วทั่วไปหลายร้อยเท่า ผมใส่ภาพปู่อึไว้ในเมนต์ แนะนำให้เปิดดูครับ

แล้วทำไมหัวโหนก? เฉพาะตัวผู้หรือเปล่าครับ?

จะตัวผู้หรือตัวเมีย หัวก็โหนกครับ ปลาชนิดนี้บ่งบอกเพศจากรูปร่างภายนอกไม่ได้ หัวโหนกมีไว้ดุนดันให้เศษปะการังหักออกมา แต่ไม่ได้ทำทุกครั้งเพราะเจ็บหัว (มั้ง)

บางครั้งปลาอาจหวงอาณาเขตโดยเฉพาะช่วงผสมพันธุ์ เมื่อตัวอื่นว่ายล้ำเข้ามาอาจว่ายไล่ บางทีเอาหัวชนกัน (มีคลิปของฝรั่ง เสียงดังได้ยินในน้ำเลยครับ)

อยู่ตัวเดียวไม่เหงาเหรอคะ?

ปรกติปลานกแก้วหัวโหนกชอบอยู่เป็นฝูง เหมือนกับปลานกแก้วทั่วไปที่ชอบรวมฝูงว่ายหากินในแนวปะการังในตอนกลางวัน ช่วงกลางคืนจะแยกย้ายกันหากิน ก่อนกลับมารวมฝูงกันตอนเช้า

หากเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ อาจเจอหลายสิบหรือนับร้อยตัว แต่แนวปะการังไทยเล็ก ฝูงใหญ่สุดที่ผมเคยเจออยู่ที่เกาะสุรินทร์ นับได้ 17 ตัว

สำหรับโลซิน อยู่เดี่ยวๆ เพราะแนวปะการังใหญ่ไม่พอ ปู่เหงาอยากมีอีหนูมาปรนนิบัติก็ไม่มีเนื่องจากพื้นที่แค่นี้ไม่พอกิน

ใกล้สูญพันธุ์หรือยังจ๊ะ?

ใกล้แล้วครับ สถานภาพระดับโลก VU เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากถูกจับ ยังเกี่ยวข้องสภาพระบบนิเวศ ปลาชนิดนี้ต้องการแนวปะการังสมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้โลกร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามที่แรงขึ้นเรื่อยๆ

ปลานกแก้วหัวโหนกในไทยมีน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่อยู่แนวสมบูรณ์ที่เป็นอุทยาน/พื้นที่อนุรักษ์ (เช่น โลซิน) ภัยคุกคามระยะยาวของเราคือระบบนิเวศอยู่ในภาวะเสี่ยง

สุดท้าย อยากฝากอะไรถึงคุณปู่?

แค่เห็นก็อยากยกมือไหว้ รักษาสุขภาพด้วยนะฮะ แล้วเราจะช่วยดูแลทะเลให้สวยๆ สมเป็นบ้านของปู่

ให้ปู่ปลาอยู่เป็นศักดิ์ศรีของท้องทะเลบ้านเราไปอีกนานเท่านานครับ

คลิป - คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์

ขอบคุณ - ปตท.สผ. สำหรับทริปสำรวจทะเลโลซิน บ้านของสุดยอดปลานกแก้วแห่งทะเลไทย ผมจะทยอยเล่าเรื่องการสำรวจครั้งนี้ไปเรื่อยๆ ครับ

อ่าน "สิ่งแวดล้อม" ทั้งหมดที่นี่