พบ "วาฬหลังค่อม" โผล่โชว์ตัวกลางทะเลภูเก็ตเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 14 ปี วอนอย่าเข้าใกล้รบกวน รวมทั้งไม่ให้อาหารวาฬ


วันที่ 24 สิงหาคม 2566 มีรายงานว่า โลกออนไลน์ได้แชร์คลิปวาฬขนาดใหญ่กำลังแหวกว่ายอยู่ในทะเล โดยมีการระบุว่า พบอยู่ในทะเลอันดามัน ระหว่าง จ.ภูเก็ต และเกาะพีพี จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต ได้รับการประสานจาก นายเจริญ ชนะพล ว่า พบวาฬขนาดใหญ่ระหว่างเดินทางโดยเรือท่องเที่ยวออกจากจังหวัดภูเก็ตมุ่งหน้าสู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ 

ขณะเดียวกันได้รับการยืนยันจาก สัตวแพทย์หญิงราชาวดี จันทรา นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ยืนยันว่า วาฬที่พบเป็นวาฬหลังค่อม (Humpback whale; Megaptera novaeangliae) ซึ่งสันนิษฐานว่ามีการว่ายน้ำตามสัตว์ขนาดเล็กที่เป็นอาหารมายังบริเวณดังกล่าว แต่จะอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่นาน เพราะวาฬชนิดนี้จะอยู่อาศัยในทะเลลึก

นายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กล่าวว่า จากการสอบถามไปยัง นายเจริญ ชนะพล ผู้พบเห็นวาฬดังกล่าว และเป็นเจ้าของคลิป ซึ่งแจ้งว่าหลังอออกเรือจาก จ.ภูเก็ต เพื่อไปยังเกาะพีพี จ.กระบี่ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งน้ำเรียบมาก แต่วาฬว่ายสวนเข้ามาตัดกับทิศทางเรือ หันหัวเข้าไปทางตะวันตก ดูจากหัวและหางวาฬมุ่งหน้าเข้าเกาะเฮ ไม้ท่อน แหลมพันวา จ.ภูเก็ต เห็นประมาณ 10 นาที ก่อนดำน้ำหายไป จากนั้นเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้นำเรือตรวจการณ์ออกไปตรวจสอบเมื่อช่วงสายวันที่ 24 สิงหาคม พบเพียงร่องรอย แต่ไม่เจอตัว 

...

ทั้งนี้ วาฬหลังค่อม เป็นวาฬซี่กรองขนาดกลาง ลำตัวสีดำ ปลายครีบข้างและท้องมีสีขาว โตเต็มที่มีความยาว 11-17 เมตร น้ำหนักประมาณ 40 ตัน ลูกแรกเกิดยาว ประมาณ 4 เมตร หนัก 680 กิโลกรัม ร่องใต้คางจำนวน 12-36 ร่อง ซี่กรองมีสีดำหรือสีเขียวมะกอก จำนวน 270-400 ซี่ ลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์ มีปุ่มกลมที่ส่วนหัว มีครีบข้างยาวถึง 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว มีสันหยักเป็นลอนคล้ายฟันเลื่อย จากครีบหลังไปถึงโคนหาง ครีบหลังอยู่ค่อนไปทางหาง ฐานครีบข้างกว้างเป็นโหนก ครีบหลังสั้นหนา แต่ละตัวมีลักษณะแตกต่างกัน อาหารของวาฬหลังค่อมคือฝูงปลาขนาดเล็ก เคย ปู หมึก และโคพิพอด โดยวาฬหลังค่อมถูกพบเห็นในน่านน้ำไทยครั้งแรกเมื่อปี 2552 ที่อ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต โดยมีภาพถ่ายยืนยันจากนักท่องเที่ยวเพียงภาพเดียวเท่านั้น และครั้งนี้เป็นการพบครั้งที่ 2 

หากท่านใดพบเห็น ขอความอนุเคราะห์เดินเรือด้วยความระมัดระวัง ลดความเร็วเรือให้ต่ำกว่า 7 น็อต ในรัศมี 400 เมตรจากตัววาฬ และใช้ความเร็วเรือไม่เกิน 4 น็อต ในรัศมี 100-300 เมตรจากวาฬ ไม่ควรเข้าใกล้เกิน 100 เมตร หากวาฬว่ายเข้าใกล้เรือ ให้หยุดเรือ ไม่เปลี่ยนทิศทางและความเร็วเรืออย่างกะทันหัน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อวาฬ ไม่แนะนำให้ว่ายน้ำ หรือลงเล่นน้ำกับวาฬ ซึ่งอาจทำให้บาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิต รวมทั้งอาจจะติดเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน และคนสู่สัตว์ และไม่ควรให้อาหารแก่วาฬในธรรมชาติ 

สามารถแจ้งการพบเห็นได้ที่ สายด่วนกรมทะเลและชายฝั่ง 1362 หรือทางเพจของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง