"นพ.สมรส" แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เตือนระวัง ฉีดวัคซีนผิดตำแหน่ง อาจต้องผ่าไหล่ ชี้หากคนไข้มีอาการให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย จะได้แยกโรคได้ถูกต้อง

วันที่ 8 ส.ค. 66 นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Somros MD Phonglamai" เตือนให้ระวังฉีดวัคซีนแล้วต้องผ่าไหล่ โดยอธิบายว่า คนไข้ฉีดวัคซีน (โควิด) ที่ไหล่ซ้ายไป 3 เดือน รู้สึกปวดไหล่มากขึ้นเรื่อยๆ เอามือเอี้ยวไปแตะข้างหลังไม่ได้ กางแขนก็ปวด ทำกายภาพบำบัดอย่างเข้มข้นสม่ำเสมอก็ยังไม่ดีขึ้น กลางคืนปวดทรมานมากจนนอนไม่หลับ ทนทรมานอยู่ 3 เดือน เริ่มอิดโรย เพลีย หงุดหงิดง่าย

การตรวจอัลตราซาวนด์และ MRI หัวไหล่ ไม่พบการอักเสบหรือการฉีกขาดของเส้นเอ็น กระดูกและข้อต่อต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งไม่สามารถอธิบายอาการปวดนี้ได้ เมื่อผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปพบว่าข้างในแคปซูลหัวไหล่เปลี่ยนเป็นแดง เป็นขุยๆ เหมือนหยากไย่เต็มไปหมด เข้าได้กับภาวะไหล่ติด (Adhesitve Capsulitis, Frozen shoulder)

อาจารย์หมอกระดูกจึงได้ทำการเลาะเก็บขุยๆ ที่อักเสบออก และล้างหัวไหล่จนสะอาด หลังผ่าตัดอาการปวดไหล่หายไป 90% ใช้เวลาฟื้นฟูไหล่ประมาณ 3 เดือน จึงใช้ไหล่ได้ แต่ยังมีอาการไหล่ติดหลงเหลืออยู่บ้าง

การวินิจฉัยหลังผ่าตัด ใกล้เคียงกับภาวะ “เซอร์ว่าซินโดรม (SIRVA syndrome)” หรือหัวไหล่บาดเจ็บจากการฉีดวัคซีน (Shoulder Injury Related to Vaccination Administration) ซึ่งพบได้ไม่บ่อย มีหลายๆ งานวิจัยพบว่าเจอคนไข้อย่างน้อย 15 คนเกิดภาวะนี้หลังจากฉีดวัคซีนโควิดชัดเจน

นอกจากวัคซีนโควิดแล้ว พบภาวะนี้จากการฉีดวัคซีนตัวอื่นๆ ในตำแหน่งที่สูงเกินไป ปกติเราจะฉีดวัคซีนใต้หัวไหล่ลงมา 3 นิ้วมือ เข้ากลางกล้ามเนื้อหัวไหล่ (middle deltoid) แต่เคสนี้ถูกฉีดวัคซีนใต้หัวไหล่เพียง 1 นิ้วมือ ทำให้วัคซีนอาจเข้าไปที่แคปซูลหัวไหล่และเกิดการอักเสบได้

สรุปสำหรับประชาชนและคนที่ฉีดวัคซีนให้คนไข้ กรุณาวัดตำแหน่งให้อยู่ที่ประมาณ 3 นิ้วมือ อย่าคิดว่าเคยฉีดคนอื่นๆ สูงกว่านี้หรือต่ำกว่านี้ไม่เห็นจะมีปัญหา เพราะเวลาคนไข้ไหล่ติดขึ้นมามันทรมานมากเป็นปี ส่วนตัวหมอจะเอาปากกาวงตำแหน่งฉีดให้พี่ๆ พยาบาลเลย และแนะนำแบบนี้กับเพื่อนๆ ด้วย "ท่องไว้ 3 นิ้วๆ"

พร้อมแนะนำว่า หากคนไข้มีอาการปวดไหล่หรือไหล่ติด ให้ไปพบคุณหมอกระดูกและข้อ คุณหมอฟื้นฟู นักกายภาพบำบัดใกล้บ้าน เนื่องจากต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียด จึงจะแยกโรคได้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งอาการ "ไหล่ติด" อาจหายได้เองใน 1-2 ปี และการฉีดยา steroid เข้าหัวไหล่ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจก่อนผ่าตัด ขึ้นกับคุณหมอเจ้าของไข้พิจารณา

นอกจากอาการไหล่ติด วัคซีนโควิดมีรายงานว่าทำให้มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บแน่นหน้าอก ผมร่วง เพลียง่าย ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม คุณหมอยังบอกด้วยว่า "โพสต์นี้ไม่ anti-vaccine นะครับ มนุษย์เราก็ทำดีที่สุดแล้วเวลานั้น ผมเองก็ฉีดไป 6 เข็ม เพราะข้อมูลทางการแพทย์ตอนนั้นแสดงให้เห็นว่าสามารถป้องกันโควิดได้ดี แม้มีผลข้างเคียงบางอย่าง แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วก็อาจจะดีกว่าเป็นโควิดลงปอดหรือเข้าสมอง"

...

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Somros MD Phonglamai

(ติดตามประเด็นร้อน "ข่าวโซเชียล" ได้ที่นี่)