การรถไฟฯ นำเจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์ขยะ และสิ่งกีดขวาง บริเวณชุมชนแออัด ย่านพญาไท หลังชาวญี่ปุ่นแชร์ภาพ รถไฟ KIHA 183 วิ่งผ่าน ชี้ ขยะส่วนใหญ่มาจากการรื้อถอนที่อยู่อาศัยผู้บุกรุก
วันที่ 2 ส.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น ที่มักรีวิววิถีชีวิต และการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และล่าสุดได้โพสต์คลิปวิดีโอรถไฟ KIHA 183 รถไฟดีเซลรางจากญี่ปุ่นที่ไทยนำมาปรับปรุง ระหว่างวิ่งผ่านสถานี พญาไท ซึ่งบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างรก มีทั้งเศษแก้ว เศษอาหาร ขยะ ฯลฯ และว่าอยากให้มีหน่วยงานเข้ามาจัดการ จนทำให้มีคนเข้ามาทวีตข้อความแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก
ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเพจ "ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย" ระบุว่า ตามที่สื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่ภาพรถไฟ KIHA 183 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินขบวนรถผ่านชุมชนแออัดบริเวณพญาไท เปรียบเทียบความสวยงามกับภาพขบวนรถไฟ KIHA 183 ที่เดินรถอยู่บนรางรถไฟที่เต็มไปด้วยหิมะที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพการเดินขบวนรถไฟ KIHA 183 ที่มีการโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการเดินรถบนเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ระหว่างที่หยุดรถอุรุพงษ์-ที่หยุดรถไฟพญาไท ซึ่งขณะนี้บริเวณดังกล่าวอยู่ระหว่างการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างของผู้บุกรุกที่อาศัยอยู่ในแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้แก่เอกชนผู้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน นำไปดำเนินโครงการฯ ต่อไป
ปัจจุบันประชาชนผู้บุกรุกได้ทยอยออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขยะส่วนใหญ่มาจากการรื้อถอนบ้านผู้บุกรุก ที่ทำให้มีทั้งเศษวัสดุหลังคากระเบื้อง ไม้อัด และสังกะสีแล้ว ยังมาจากประชาชนผู้บุกรุกบางส่วนนำขยะมาทิ้งด้วย
...
อย่างไรก็ตามขณะนี้ฝ่ายการช่างโยธา การรถไฟฯ และเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ร่วมประสานงาน และระดมแรงงานกว่า 30 คน ลงพื้นที่ทำความสะอาด และเก็บขยะบริเวณที่มีการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างของผู้บุกรุก รวมทั้งบริเวณเส้นทางรถไฟ ซึ่งหลังจากนี้จะนำรถแบ็กโฮเข้าหน้างาน และตักขยะส่วนที่เหลือออกไปด้วย ก่อนส่งมอบให้เอกชน
สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น การรถไฟฯ ได้เตรียมการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร โดยได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการกั้นพื้นที่ ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์ และติดป้ายประกาศห้ามบุกรุก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลับมาบุกรุกในพื้นที่เพิ่ม และนำขยะมาทิ้งในที่ดินของการรถไฟฯ อีก
อย่างไรก็ตามสำหรับแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างที่หยุดรถอุรุพงษ์-ที่หยุดรถพญาไท มีระยะทางประมาณ 1,200 เมตร ก่อนหน้านี้มีผู้บุกรุกอยู่อาศัยเต็มพื้นที่ตลอดแนวประมาณ 100 หลังคาเรือน
ซึ่งล่าสุด ชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าวก็ได้ทวีตข้อความขอบคุณเจ้าหน้าที่สำหรับการดำเนินงานที่รวดเร็วนี้ด้วย.