450 ปี คือเวลาที่ใช้ในการย่อยสลายขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นขวด แก้ว จาน ชาม และอีกสารพัดวัสดุที่ทำจากพลาสติก ซึ่งหมายถึง ในช่วงระยะเวลาของการย่อยสลายนั้น พลาสติกก็คือขยะที่แฝงตัวอยู่ตามที่ต่างๆทั่วโลก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 นิวซีแลนด์ เป็นประเทศแรกของโลกออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ของสดในซุปเปอร์มาร์เกตอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้ดำเนินการใช้มาตรการห้ามร้านค้าจำหน่ายถุงช็อปปิ้งพลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งสนับสนุนให้คนเลือกใช้ถุงตาข่าย ถุงกระดาษ หรือถุงผ้าที่ใช้ซ้ำได้เวลาออกไปจับจ่ายซื้อของด้วย

ทั้งนี้ นิวซีแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับขยะพลาสติกจำนวนมาก ที่ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนขยะในประเทศ การอุดตันของท่อระบายน้ำเมื่อเกิดพายุ และการที่สัตว์หลายชนิดกินพลาสติกเข้าไปจนเกิดความเสียหายต่อธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเล สัตว์ทะเลอย่าง “เต่า” ที่ถูกเศษถุงพันรัดขาขาด ผ่าซากเจอขยะพลาสติกเต็มท้อง หรือพะยูนที่พบเศษพลาสติกขนาดเล็กหลายชิ้นเข้าไปขวางลำไส้ นอกจากนี้ ขยะถุงพลาสติกยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งที่ผ่านมานักวิชาการจำนวนมากได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหานี้ จนนำมาสู่การประกาศยุติการใช้ถุงพลาสติก 100 % ในซุปเปอร์มาร์เกต

...

มาตรการดังกล่าวของนิวซีแลนด์ได้รับการขานรับจากภาคเอกชนในทันที ร้าน Countdown ซุปเปอร์มาร์เกตชื่อดังที่มีสาขามากกว่า 185 แห่งในนิวซีแลนด์ เริ่มจำหน่ายถุงตาข่ายโพลีเอสเตอร์แบบใช้ซ้ำได้ โดยหวังว่าสิ่งนี้จะกระตุ้นให้ลูกค้าเลือกใช้ถุงที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น

James Palmer รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของนิวซีแลนด์ บอกว่า คาดการณ์ว่าการบังคับใช้มาตรการในครั้งนี้จะช่วยลดจำนวนถุงพลาสติกสำหรับใส่ของ สดได้มากถึง 150 ล้านใบต่อปี

นอกจากเรื่องของพลาสติกแล้ว รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังมีมาตรการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในด้านอื่นๆ ด้วย โดยวางแผนที่จะเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงในฟาร์มในเดือนตุลาคม 2566 และอาจจะมีการเก็บเงินหรือภาษีจากเกษตรกร สําหรับการปล่อยมลพิษทางการเกษตรภายในปี 2568 ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” ที่กำหนดโดยองค์กร Plastic Bag Free World ซึ่งก่อตั้งจากความร่วมมือขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายแห่งทั่วโลก หวังกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบของการใช้ถุงพลาสติก ประเทศไทยได้ประกาศการเข้าสู่แผนปฏิบัติการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกหลุดรอดลงสู่ทะเลลง 50% ภายในปี 2570 ขณะที่การดำเนินมาตรการลดการใช้พลาสติกในรอบ 3 ปี พบว่าสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว 14,349 ล้านใบ หรือประมาณ 81,531 ตัน

สำหรับประเทศไทยได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 กำหนดเป้าหมาย 2 เป้าหมาย คือ การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570

และเพราะพลาสติกไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะเรื่องของขยะหรือสิ่งแวดล้อม แต่ส่งผลต่อปัญหาภูมิอากาศของโลก หลายประเทศ จึงมีการออกมาตรการที่เข้มงวด จริงจัง เพื่อให้คน “งดใช้” ถุงพลาสติก บางประเทศออกเป็นกฎหมายขั้นรุนแรงหรือเปรียบเทียบถุงพลาสติกเป็นภัยร้ายเทียบเท่ากับยาเสพติดเลยทีเดียว

ปัจจุบันมีประเทศมากกว่า 120 ประเทศ ที่ประกาศมาตรการนี้อย่างเป็นทางการ อาทิ บังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศแรกของโลกที่มีมาตรการแบนถุงพลาสติกขั้นเด็ดขาดในปี 2002 โดยมีกฎหมายห้ามผลิตและให้ถุงพลาสติกแก่ผู้บริโภค หากฝ่าฝืนมีโทษปรับครั้งละ 2,000 ดอลลาร์ เหตุผลที่ต้องทำให้เด็ดขาดเช่นนี้เป็นเพราะพลาสติกได้อุดตันในท่อระบายน้ำ จนกลายเป็นสาเหตุทำให้บังกลาเทศเจอวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 1988 และปี 1998

เคนยา เป็นอีกประเทศที่ประกาศตัวเป็นศัตรูกับถุงพลาสติกอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2017 โดยมีการออกกฎหมายบังคับห้ามใช้ถุงพลาสติกอย่างเข้มงวด โดยใครจำหน่าย ผลิต หรือใช้ถุงพลาสติก จะมีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 38,000 ดอลลาร์

เกาหลีใต้ มีการบังคับใช้กฎหมายลดการใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง และมีคำสั่งห้ามซุปเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ทั่วประเทศใช้ถุงพลาสติก หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับเป็นเงินสูงสุด 3 ล้านวอน หรือประมาณ 87,500 บาท รวันดา เป็นประเทศแรกที่ปลอดการใช้ถุงพลาสติกอย่างสมบูรณ์แบบมานานกว่า 10 ปี แคนนาดา ประกาศแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งภายในปี 2021 เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นถุง หลอด ช้อนส้อม จานชาม และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ

ฝรั่งเศส เป็นอีกประเทศที่ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง โดยเริ่มต้นจากซุปเปอร์มาร์เกตก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อลบล้างภาพลักษณ์ของประเทศที่เคยมีสถิติตัวเลขเกี่ยวกับการทิ้งแก้วพลาสติกสูงถึง 4.73 พันล้านใบ และใช้ถุงพลาสติกในซุปเปอร์มาร์เกตสูงถึง 1.7 หมื่นล้านถุง ในปี 2015 จีน เริ่มใช้กฎหมายควบคุมการใช้ถุงพลาสติกในปี 2008 โดยสั่งห้ามห้างร้านหรือร้านค้าให้ถุงพลาสติกที่มีความบางกว่า 0.25 มิลลิเมตรแก่ผู้บริโภค หรือต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้ถุง ส่งผลให้ห้างร้านใหญ่ๆในจีนลดการใช้ถุงพลาสติกสูงถึง 60-80% เท่ากับว่าลดการใช้พลาสติกได้ราว 40 ล้านใบ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสมัครใจให้ประชาชนลดใช้ถุงพลาสติกในวันปลอดการใช้ถุงพลาสติก อินเดีย เริ่มสั่งแบนการใช้ถุงพลาสติกที่หนากว่า 20 ไมโครเมตร ตั้งแต่ปี 2002.