อ.ธรณ์ เผยภาพมวลน้ำร้อนจ่อปากอ่าวไทยแล้ว เตรียมรับมือผลกระทบ 3 เรื่อง ปะการังฟอกขาว แพลงก์ตอนบลูม พายุ แนะจับตา "ดับเบิลเอลนีโญ"

วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 มีรายงานว่า จากกรณี ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยภาพและข้อมูลล่าสุดจาก NOAA ที่แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ และมวลน้ำเคลื่อนเข้าจ่อปากอ่าวไทยแล้ว 

โดยมวลน้ำร้อนดังกล่าวได้ส่งผลกระทบ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ผลกระทบต่อปะการัง, ผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูม/น้ำเปลี่ยนสี และผลกระทบต่อพายุ เฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่นและมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย  

ปะการังฟอกขาว

จากการสอบถาม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในเรื่องของระบบนิเวศน์โดยเฉพาะปะการังฟอกขาว คาดว่าจะเกิดช่วงประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เพราะเป็นช่วงที่น้ำร้อนสุด และเอลนีโญอาจจะยังไม่หมด จึงทำให้น้ำร้อนผิดปกติเป็นอย่างมาก 

สิ่งที่ทำได้ในช่วงนี้คือพยายามติดตั้งสถานีแจ้งเตือนให้มากที่สุด ติดตามอุณหภูมิน้ำทะเลบ่อยๆ และในพื้นที่ที่โดนผลกระทบเยอะๆ ก็จะต้องลดผลกระทบที่มาจากมนุษย์เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติม ซึ่งจะต้องประสานกับหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น เรื่องขยะทะเล เรื่องน้ำทิ้ง การท่องเที่ยวที่หนาแน่น หากหนักจริงๆ จะต้องพิจารณาว่าจะต้องปิดแนวปะการังเหมือนเช่นในอดีต หรือสร้างจุดดำน้ำเทียมเพื่อให้นักดำน้ำ นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ลดลงได้กระจายออกไปตามจุดต่างๆ เพื่อให้แนวปะการังได้พักฟื้น แต่ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะรุนแรงขนาดไหน เพราะเคยฟอกขาวทั้งประเทศก็มีมาแล้ว แต่ตอนนี้ที่เป็นห่วงคืออ่าวไทย ภาคตะวันออก เช่น เกาะเต่า เกาะสมุย 

...

แพลงก์ตอนบลูม

ส่วนเรื่อง แพลงก์ตอนบลูม ตอนนี้มีขึ้นเรื่อยๆ แต่จะแรงอีกครั้งคือช่วงเดือนพฤศจิกายน ในช่วงนั้น "เอลนีโญ" จะแรงสุดประกอบกับช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เป็นช่วงแพลงก์ตอนบลูมอยู่แล้ว หากมีเอลนีโญก็จะหนักกว่าเดิม ฉะนั้นจะต้องตามดูในช่วงนั้นเป็นพิเศษ 

ถามว่าทำอะไรได้บ้าง ในตอนนี้เวลาเหลือน้อยแล้ว จริงๆ เราเคยเตือนแล้วว่าในอนาคตอย่างน้อยสุดจะต้องมีระบบแจ้งเตือนที่ดีกว่านี้ คือแจ้งเตือนชาวประมง คนเพราะเลี้ยงชายฝั่ง เลี้ยงหอย โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งภาคตะวันออกและพื้นที่อื่นๆ เหมือนการแจ้งเตือนฝน เพียงแต่ระบบของเรายังดีไม่พอขนาดนั้น ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว หากน้ำมีสีเขียวมากๆ มีปลาลอยตาย มีกลิ่นเหม็น เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากลงไปเล่นน้ำ ก็จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาน้ำเขียวแก้ไขได้ยากมาก จะต้องแก้ไปถึงต้นทางคือการบำบัดน้ำทิ้ง โดยเฉพาะภาคตะวันออก เราบำบัดน้ำทิ้งได้น้อยมาก ไม่ถึง 30%

การเกิดพายุพอจะมองเห็นแล้ว เพราะน้ำทะเลร้อนเกิดใกล้เรา ก็จะทำให้เกิดพายุโซนร้อนในช่วงเดือนนี้ยาวไปจนถึงสิ้นสุดพายุด้านนี้คือสิ้นปี หรือช่วงเดือนตุลาคม เมื่อมีเอลนีโญเข้ามา แรงลมจะมากขึ้น อาจจะเป็นพายุลูกไม่ใหญ่แต่จะมาถี่มากขึ้น ช่วงฝนตก น้ำก็จะท่วมหนักขึ้น แต่โชคดีคือพายุไม่เข้ามาฝั่งเรามากนัก แต่ในเกาหลีจะตกหนัก 

จับตา "ดับเบิลเอลนีโญ"

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ล่าสุดเราคาดการณ์ได้ถึงช่วงเดือนเมษายน เอลนีโญจะเริ่มเบาลง แต่ปัญหาของ “ดับเบิลเอลนีโญ” คือขณะนี้เรายังคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ไกลขนาดนั้น ขณะนี้บอกได้เพียงว่าช่วงเดือนเมษายนเอลนีโญอาจจะยังไม่จบ แต่หล่นจากช่วงพีกแล้ว แต่หากลากยาวไปถึงเดือนกรกฎาคมก็จะเป็นดับเบิลเอลนีโญ ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นหรือไม่เป็น แต่ในเดือนธันวาคมนี้ก็น่าจะคาดการณ์ได้แล้ว เพราะสามารถคาดการณ์ได้ 6-8 เดือน

แต่หากเกิดดับเบิลเอลนีโญก็จะมีปัญหาค่อนข้างเยอะ เพราะปีนี้น้ำเราน้อย ทำให้ต้นทุนน้ำในช่วงปลายฝนเราน้อยไปด้วย ดังนั้นหากแห้งแล้งต่อไปนานกว่าเดิมผลกระทบก็จะเกิดตามมา.