เปิดภาพ "เห็ดถ้วยขนยาว" สีสันของ "ฤดูฝน" มีความสำคัญในระบบนิเวศ มักพบเจริญอยู่บนขอนไม้หรือกิ่งไม้ที่ตายแล้ว
เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ข้อความโดยระบุว่า "รู้จัก เห็ดถ้วยขนยาว สีสันของฤดูฝน ภาพจากภารกิจลาดตระเวนของ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อช.เขาหลัก-ลำรู่ สำหรับ เห็ดถ้วยขนยาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cookeina tricholoma อยู่ในไฟลัมแอสโคไมโคตา (phylum Ascomycota) เป็นเห็ดที่มีหมวกเป็นรูปทรงกรวย (คล้ายถ้วยแชมเปญ) มีสีส้ม ส้มเข้ม หรือสีชมพู และมีขนสีขาวอยู่เต็มทั่วผิวดอก ก้านเป็นรูปทรงกระบอกยึดติดเป็นแผ่นเดียวกับหมวก มักพบเจริญอยู่บนขอนไม้หรือกิ่งไม้ที่ตายแล้ว
ส่วนบทบาทและคุณค่าในระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเห็ดรา มีความสำคัญไม่น้อยในระบบนิเวศ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย (saprophyte) ทำให้ซากสิ่งมีชีวิตเน่าสลายไป และเกิดการหมุนเวียนของแร่ธาตุอาหารต่างๆ ครบเป็นวัฏจักร และนำกลับมาใช้ใหม่ในระบบนิเวศ ไม่สูญหายไปไหน"
ขอบคุณเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช