วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปจากผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งที่บันทึกเหตุการณ์ ขณะที่ชาวประมงกลุ่มหนึ่งกำลังช่วยกันปล่อย "ปลาโรนิน" ขนาดใหญ่ลงสู่ท้องทะเล เรียกเสียงชื่นชมจากโซเชียล และกลุ่มคนอนุรักษ์เป็นจำนวนมาก

ต่อมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ชาวประมงปล่อยปลาโรนินกลับคืนสู่ทะเล โรนินเป็นปลาหายากสุดๆ ขอบคุณพวกพี่ๆ มาก โรนินไม่ใช่โรนัน สังเกตหัวกลมได้ สถานภาพตอนนี้นับว่าวิกฤติสุดขีด แทบไม่มีรายงานเลยในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปลาหายากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเลไทย

ยังรวมถึงสถานภาพที่ถูกคุกคามหนักในระดับโลกในระดับ CR (เสี่ยงขั้นวิกฤติ) ในช่วงที่เรานำเสนอสัตว์สงวนทั้ง 4 ชนิด เรานำเสนอสัตว์คุ้มครองอีกหลายชนิด โรนินเป็น 1 ในนั้น และเป็นเป้าหมายหลักของการนำเสนอ เพราะเรายังพอมีหวังในการอนุรักษ์พวกเธอไว้ ไม่ให้สูญพันธุ์จากบ้านเรา

...

ปลาโรนิน (bowmouth guitarfish) เป็นญาติกับปลาโรนัน แต่หัวกลมเป็นสันและมีปุ่มหนามชัดเจน ขนาดเต็มที่อาจยาวถึง 3 เมตร น้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม ปลาชนิดนี้แพร่กระจาย ตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และเขตอินโดแปซิฟิก หากินตามพื้น แต่เมื่อมีการประมงมากขึ้น ทำให้จำนวนลดลงอย่างรวดเร็วในแหล่งต่างๆ การดำน้ำเจอปลาโรนิน คือสุดยอด ในอดีตมีรายงานการพบบ้าง 2-3 ครั้งที่หมู่เกาะสิมิลัน แต่ในปัจจุบันไม่มีใครเจอเป็นปีๆ แล้ว

ผมเคยเจอเพียงครั้งเดียว ที่เกาะโลซิน เมื่อ 20+ ปีก่อน มาวูบเดียวว่ายน้ำผ่านไปเลย ตื่นเต้นมาก ลูกปลาโรนินยังเคยเข้ามาเกยตื้นที่ระยองเมื่อ 8 ปีก่อน เสียดายที่ป่วยจนช่วยไม่ได้ ปัจจุบันไม่มีรายงานมาระยะหนึ่งแล้ว จึงเป็นปลาหายากของจริง ยิ่งกว่าฉลามวาฬ ยิ่งกว่าแมนตา หรือยิ่งกว่าปลาขนาดใหญ่ตัวใดๆ ที่คิดออก

เมื่อปลาโรนินอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่หนัก เราจึงผลักดันจนได้เป็นสัตว์คุ้มครอง กรมประมงแจ้งให้พี่น้องชาวประมงทราบ อีกทั้งพี่น้องยังรักทะเลไทย ช่วยกันดูแลทะเลบ้านเรา ปล่อยสัตว์หายากคืนสู่ท้องทะเล ปลาโรนินค่อนข้างทน ปล่อยทันทีอย่างนี้คงไม่เป็นอะไร ลงน้ำไปหากินต่อได้

แจ้งให้ทราบว่า ทุกส่วนของโรนินและซาก รวมถึงแหวน ผิดกฎหมายทั้งนั้น ใครขายซื้อครอบครองมีโทษทั้งจับทั้งปรับหนัก หากเพื่อนธรณ์เจอที่ขายอยู่ตามออนไลน์บ้าง แจ้งกรมทะเลได้เลยนะครับ และนั่นคือผลสำเร็จของการอนุรักษ์สัตว์หายากทางทะเล

จากไม่มีกฎหมาย กลายเป็นสัตว์คุ้มครอง ทุกหน่วยงานช่วยกันแจ้งช่วยกันรณรงค์ จนเกิดเป็นผลที่เห็นด้วยตา ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก และในฐานะคนรักทะเล ผมขอบคุณพี่ๆ ชาวประมงทุกท่านอีกครั้ง  พวกพี่ช่วยปลาหายากที่สุดชนิดหนึ่งของท้องทะเลไทยไว้ นั่นมีความหมายเป็นอย่างยิ่งครับ

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าของคลิปได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" เพิ่มเติมว่า กลุ่มตนเองนั้นทำอาชีพประมง เรืออวนล้อม เรื่องปล่อยสัตว์หายากทำประจำ เต่า โมล่าโมล่า กระเบนแมนต้า ฉลามก็ยังปล่อยเลย เพราะเราดำน้ำกันด้วย จะรู้ว่าสัตว์ชนิดไหนควรปล่อย ควรเก็บ บางชนิดไม่ผิดกฎหมายไม่คุ้มครองเราก็ปล่อย

ทั้งยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกววันนี้ประชาชาชาวบ้านขาดความรู้ความเข้าใจ และยังมีประมงบางชนิดที่ล้างผลาญมากๆเลย จึงอยากฝากว่า ทุกอย่างเริ่มที่เรา ถ้าหน่วยงานให้ความรู้ชาวบ้านให้ทั่วถึงจะดีมากๆ อยากให้รุ่นลูกหลานได้เห็นสัตว์หายาก.

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat