สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย "ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี" 10 กรกฎาคมนี้ สังเกตด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ พร้อมแนะช่วงเวลาในการดู


วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 มีรายงานว่า แฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความว่า วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 "ดาวศุกร์สว่างที่สุด" ครั้งแรกของปีนี้ ปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันตก ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 19.00 น. ถึง 21.09 น. สังเกตด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ คาดว่ามีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12) 

เมื่อสังเกตดาวศุกร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ นอกจากนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวยังมีดาวเรกูลัสเคียงดาวอังคารปรากฏเหนือดาวศุกร์ขึ้นไปอีกด้วย หากทัศนวิสัยท้องฟ้าดี สามารถชมได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนทั่วประเทศ 

ดาวศุกร์สว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) คือช่วงที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม และมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ จึงปรากฏสว่างมากบนท้องฟ้า สำหรับในช่วงอื่น แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย 

การที่เราเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวอยู่เสมอ เนื่องจากดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ โคจรรอบดวงอาทิตย์ใกล้กว่าโลก จึงไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ เพราะจะปรากฏสว่างเต็มดวงเมื่ออยู่หลังดวงอาทิตย์ ดังนั้น คนบนโลกจึงมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวอยู่เสมอ ความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งของวงโคจร และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในช่วงเวลาดึก 

...

ทั้งนี้ หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ คนไทยมักเรียกว่า "ดาวประจำเมือง" หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด คนไทยมักเรียกว่า "ดาวประกายพรึก" 

ในปี 2566 นี้ ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุด 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ช่วงหัวค่ำ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 21.09 น. และครั้งที่ 2 ช่วงเช้ามืด ในวันที่ 18 กันยายน 2566 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 03.25 น. จนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า.