"วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ" ตอบแล้ว ปม "นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น" ตั้งคำถาม "เสาตอม่อสะพานพระนั่งเกล้า" บางเฉียบ พร้อมย้ำออกแบบตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยเพียงพอ
จากกรณี "นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น" รายหนึ่ง ได้โพสต์ภาพผ่านทวิตเตอร์ พร้อมระบุข้อความว่า "ที่นี่คือเมืองไทย เสาบางเกินไปหรือเปล่าครับ" โดยหลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้มีชาวเน็ตทั้งคนไทยและต่างชาติ เข้ามาถกเถียงถึงประเด็นดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด วันที่ 7 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ แขวงทางหลวงนนทบุรี อยู่ใต้สะพานพระนั่งเกล้า ใหม่ อ.เมืองนนทบุรี โดยได้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์กับ นายพัฒนพงศ์ ทองสุข วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ อดีต ผอ.แขวงทางหลวงนนทบุรี และยังเป็นวิศวกรก่อสร้างสะพานพระนั่งเกล้าดังกล่าวอีกด้วย
นายพัฒนพงศ์ กล่าวว่า การก่อสร้างเป็นไปตามหลักวิชาการมีความแข็งแรง ไม่มีข้อกังวลในการออกแบบ ตัวนี้ออกแบบโดยบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งหลักการออกแบบโดยทั่วไปของการออกแบบสะพาน ออกแบบตามมาตรฐานของอเมริกา (AASHTO) การก่อสร้างก็ก่อสร้างตามมาตรฐานของกรมทางหลวง
...
ส่วนลักษณะของสะพานตัวนี้ เมื่อเทียบกับสะพานพระราม 3 ที่เห็นในสื่อโซเชียลก่อสร้างลักษณะเหมือนกัน แต่ตัวนี้จะเตี้ยกว่าความชะลูดก็จะไม่ชะลูด จะมีความแข็งแรงมากกว่า แต่ตัวนั้นถึงแม้จะมีความสูงชะลูดก็ยังมีความแข็งแรงอยู่เหมือนกัน ซึ่งสะพานพระราม 3 สร้างมาก่อนสะพานคู่ขนานพระนั่งเกล้า ซึ่งการออกแบบมีข้อกำหนดมีมาตรฐานในการออกแบบอยู่แล้ว คือไม่น่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย
ในการออกแบบลักษณะนี้ทั้งสะพานพระราม 3 และสะพานคู่ขนาน สะพานพระนั่งเก้า หลักการออกแบบสะพานตัวนี้จะมีรอยต่อระหว่างสะพานที่อยู่ห่างกันค่อนข้างมาก จะเห็นได้ชัดเมื่อวิ่งอยู่บนสะพาน ที่มีรอยต่อค่อนข้างมากเพราะการยืดหดตัวของสะพาน ที่เกิดจากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการยืดหดตัวมาก ถ้าเสาสะพานแข็งจะทำให้การยืดหดตัวลำบาก แรงที่เกิดจากการยืดหดตัวของพื้นสะพานด้านบน จะทำให้เสารับแรงมหาศาลถ้าเสาแข็งมาก
ทั้งนี้ ผู้ออกแบบเขาก็เลยออกแบบให้เป็นแบบเสาบาง เพื่อให้สามารถเคลื่อนตัวตามแรงยืดหดตัวของพื้นสะพานด้านบน ตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง คืออุณหภูมิสูงสะพานก็ขยายตัว อุณหภูมิเย็นสะพานเพื่อหดตัว ถ้าเสาบางๆ ก็สามารถพลิ้วได้ไปตามการยืดหดตัว แต่ถ้าเสาแข็งมากจะต้องรับแรงมหาศาล ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายขึ้นง่าย ถ้าเสริมเหล็กเสริมอะไรไม่เพียงพอ นี่คือหลักการที่เขาออกแบบมา
อย่างไรก็ตาม เรื่องการรับน้ำหนัก พื้นที่หน้าตัดรับน้ำหนักแนวดิ่งจากการดัดตัว มันสามารถรับน้ำหนักได้อยู่แล้ว เพราะออกแบบตามมาตรฐานสากลมาตรฐานของอเมริกา รับน้ำหนักได้มีความปลอดภัยเพียงพอ.