อ.ธรณ์ เผยความรู้สึกสุดตื้นตัน เมื่อนิสิตปริญญาเอก ทำวิทยานิพนธ์ "ปลาทูน่าตาโต" ประสบผลสำเร็จ หลังใช้เวลาเรียนยาวนานกว่า 18 ปี พร้อมเผยเป็นงานที่ยากที่สุดในการเก็บข้อมูล และจะมีประโยชน์กับประเทศมหาศาลในอนาคต

วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ในชีวิตการเป็นอาจารย์ 29 ปี ผมมีช่วงเวลาที่น้ำตาซึมอยู่น้อยครั้ง หนึ่งในนั้นคือวันนี้ เพื่อนธรณ์อาจสงสัย ดูภาพแล้วไม่เห็นสื่ออะไร จึงขออธิบายว่าคนในภาพคือ พี่เป้า เป็นนิสิตปริญญาเอกของผม ผู้ใช้เวลาเรียนยาวนาน 18 ปี

18 ปี อ่านไม่ผิดหรอกครับ นั่นหมายถึงเฉพาะปริญญาเอก เป็นสถิติยาวนานที่สุดของคณะประมงแน่นอน น่าจะนานสุดในเกษตรศาสตร์ด้วยซ้ำ หรือไม่ก็นานสุดในไทย หากใครบอกว่าการเรียน คือการใฝ่รู้ เรียนนานแค่ไหนก็ได้ เรียนอายุเท่าไรก็ได้ ตราบใดที่คนเรายังอยากเรียน

พี่เป้าคือตัวอย่างที่ดี พี่สอบวิทยานิพนธ์ปากเปล่าในวันนี้ ในวันที่เหลือเวลาอีก 3 เดือนจะเกษียณ คณะกรรมการสอบ มีตั้งแต่ ระดับศาสตราจารย์อาวุโสสูงสุดในคณะ ไล่เรียงไปเรื่อย แต่ทุกคนเรียกนิสิตว่าพี่ การเรียนอันยาวนาน เกิดจากพี่มีงานเยอะมากในฐานะเป็นข้าราชการของกรมประมง อีกเรื่องสำคัญกว่านั้น เพราะหัวข้อที่พี่เลือกคือสุดโหด เป็นงานเกี่ยวกับปลาทูน่า

หากเพื่อนธรณ์ลองเสิร์ช "งานวิจัยปลาทูน่า" เพื่อนธรณ์อาจได้มาเพียบ แต่ถ้าอ่านดูจะพบว่าทั้งหมด เป็นงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปลากระป๋อง/เนื้อ เพราะเมืองไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่ามากสุดในโลก แต่ถ้าเป็นการจับ เราไม่มีในเชิงพาณิชย์จริงจัง เพราะเรามีความรู้ทูน่าน้อยเหลือเกิน

...

เรื่องชีววิทยาปลาทูน่ามีอยู่น้อยนิด เพราะเป็นงานที่สุดแห่งความยากในการเก็บข้อมูล/วิเคราะห์ข้อมูล ยิ่งถ้าเป็นชนิดทูน่าตาโต งานที่ปรากฏมา 1 งาน ก็คืองานของพี่เป้า มันเป็นหัวข้อยากที่สุด ในบรรดาหัวข้อทั้งหลาย ในหมวดหมู่การประมง แต่ในความยากมีความลับซ่อนอยู่

เป็นความลับที่มีประโยชน์มหาศาล ต่อประเทศไทย เช่น แต่ละปีเราได้โควตาจับปลาทูน่าตาโต ในมหาสมุทรอินเดีย 2,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท แต่เราไม่ได้ใช้โควตานี้ เพราะเรายังจับปลาทูน่าไม่ได้ ปล่อยให้หลุดไปเรื่อยๆ ทุกปี เพราะเราอาจมีความรู้ไม่พอ

งานของพี่เป้า คือ การบุกเบิกครั้งสำคัญ เพื่อหาทางใช้ประโยชน์จากโควตานี้ให้ได้ เมื่อการสอบจบลง ผมจึงบอกพี่เป้าง่ายๆ สำหรับผม ไม่เกี่ยวกับว่าเรียนนานแค่ไหน ไม่สนใจว่าทำไมไม่จบสักที ไม่เคยบอกพี่ในฐานะอาจารย์ ที่ปรึกษาให้เปลี่ยนหัวเรื่อง คนทุกคนมีความฝัน คำว่าจบให้เร็วที่สุด อาจเป็นมาตรฐานของการเรียนทั่วไป แต่ฝันบางคนไกลกว่านั้น ฝันว่าจะนานแค่ไหนก็ไม่สน ฉันจะทำเรื่องนี้ให้ได้ เพราะฉันคิดว่าเรื่องนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย

ผมขอแค่นี้พอแล้ว จะประเมินความเป็นอาจารย์ของผมยังไงก็ได้ แต่ผมประเมินตัวเองไปเรียบร้อยแล้วว่า จะไปด้วยกันให้สุดทาง 18 ปี นิสิตเหลือ 3 เดือนเกษียณ อาจารย์ก็เข้าสู่โค้งสุดท้าย ในที่สุดเราก็ทำสำเร็จครับ พี่เป้าวิทยานิพนธ์ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยที่รักของเรา

อย่าไรก็ตาม อ.ธรณ์ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า คุณเป้านิสิตท่านดังกล่าวนั้นก่อนหน้านี้ ได้ศึกษาและทำการวิจัยเรื่องของทูน่ามาแล้ว และได้ใช้เวลา 18 ปี ในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก จนตอนนี้สอบวิทยานิพนธ์ผ่านแล้ว เหลือเพียงแก้ และส่งเล่ม เป็นขั้นตอนของเอกสารเท่านั้น ก่อนจะจบอย่างเป็นทางการ.

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat