อ.เจษฎ์ อธิบายปรากฏการณ์ "สายรุ้งสีแดง" แสงสวยงามเหนือท้องฟ้า ที่มีลักษณะครึ่งวงกลมครอบ "วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร" เป็นภาพที่พบเห็นได้ไม่บ่อย มักเกิดในช่วงพลบค่ำ
วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลายเป็นประเด็นฮือฮาในออนไลน์ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์คลิปวิดีโอ ปรากฏการณ์ประหลาด "แสงสีรุ้ง" โผล่ขึ้นมาจากท้องฟ้า เป็นลักษณะครึ่งวงกลมครอบองค์ พระธาตุเชิงชุม ในทางทิศตะวันออก ซึ่งหลังจากโพสต์ดังกล่าว ถูกเผยแพร่ออกไป ต่างมีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็น ชื่นชมความสวยงามเป็นจำนวนมาก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า เมื่อช่วงพลบค่ำวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานการพบ "แสงครอบวัด" ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
โดยมีลักษณะเป็นแสงสวยงามเหนือท้องฟ้า ลักษณะครึ่งวงกลม ครอบองค์พระธาตุ สร้างความฮือฮาสาธุ ต่อผู้พบเห็นเหตุการณ์อย่างมาก และมีหลายคนที่ถ่ายภาพนำมาเผยแพร่กัน โดยมีคลิปวิดีโดประกอบ ซึ่งช่วยยืนยันได้ว่า ภาพถ่ายของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดจากมุมกล้อง หรือใช้แอปฯ ตกแต่งอย่างใด ตามความเห็นส่วนตัวของผม คิดว่านี่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ ที่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก ที่เรียกว่า red rainbow หรือ สายรุ้งสีแดง
ปรากฏการณ์ red rainbow จะพบเห็นได้ เมื่อมีสายรุ้งเกิดขึ้นในช่วงที่พระอาทิตย์ กำลังอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำลงมาใกล้ขอบฟ้า ดังเช่น ตอนพลบค่ำเช่นนี้ ทำให้แทนที่จะเห็นแสงอาทิตย์ ที่ผ่านละอองน้ำในอากาศ แล้วหักเหเป็นหลายๆ สี จนดูเป็นรุ้งกินน้ำสเปกตรัม 7 สีหลัก อย่างที่เราคุ้นกัน
...
กลับเห็นเป็น "สีแดง" เด่นเป็นหลัก เพราะในช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกนั้น แสงอาทิตย์ซึ่งมีหลายความยาวคลื่นปนกัน ได้เคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศ แล้วเกิดการกระเจิง อันเนื่องฝุ่นผง และโมเลกุลต่างๆ ในอากาศ
ทำให้แสงกลุ่มที่ความยาวคลื่นสั้น เช่น สีฟ้าและสีเขียว ถูกกระเจิงออกไปมากที่สุด ขณะที่แสงในกลุ่มยาวความยาวคลื่นที่ยาวกว่า คือสีแดงและเหลืองนั้น เดินทางมาหาเร็วได้มากกว่า จึงทำให้ท้องฟ้ายามเช้าและพลบค่ำดูเป็นสีแดงส้ม และมีผลทำให้รุ้งกินน้ำที่เกิดขึ้น ดูเป็นสีแดงไปด้วย
ซึ่งสอดคล้องกับในรายงานที่บอกว่า เห็น "แสงครอบวัด" ในทางทิศตะวันออก ตอนพระอาทิตย์ตก พลบค่ำ ซึ่งรุ้งกินน้ำจะเกิดในทิศตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ ถ้าเกิดจาก "พระอาทิตย์ทรงกลด" ก็น่าจะเกิดทางทิศตะวันตก
ขณะที่ช่วงนี้ ตามพยากรณ์อากาศ พบว่ามีฝนตกบ่อยครั้งในจังหวัดสกลนครด้วย และถ้าไปดูในรูปตามข่าว ก็พอจะเห็นสีอื่นๆ ของรุ้งกินน้ำ ปนอยู่บ้าง ดังนั้น คราวหน้า เวลาฝนหยุดตอนใกล้พลบค่ำ ลองมองทิศไปทางทิศตะวันออกนะครับ อาจจะเจอ red rainbow แบบนี้ก็ได้.
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์