อ.ธรณ์ อธิบายกรณีน้ำทะเลเปลี่ยนสี บริเวณชายฝั่งทะเลศรีราชา จ.ชลบุรี ออกซิเจนในน้ำเหลือน้อย ชี้ โลกยิ่งร้อน ทะเลยิ่งเกิดผลกระทบ

วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายถึงกรณีน้ำทะเลเปลี่ยนสี บริเวณชายฝั่งทะเลศรีราชา จ.ชลบุรี

โดยระบุข้อความว่า "สถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มก. รายงานน้ำเปลี่ยนสีแถวศรีราชา/สีชัง พบว่าออกซิเจนในมวลน้ำใกล้พื้นลดลงต่ำมาก มีสัตว์น้ำตายบ้างแล้วครับ 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราพบแพลงก์ตอนบลูมหรือน้ำเปลี่ยนสีหลายแห่งในชลบุรี ใครไปทะเลจะเห็นน้ำสีเขียวมาจนถึงชายฝั่งหรือตามหาดบางแห่ง ออกไปถึงเกาะก็ยังเจอ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดง่ายเมื่อฝนแรกๆ ตกลงมา ทำให้ธาตุอาหารลงทะเล ทั้งตามธรรมชาติและจากมนุษย์ เช่น การเกษตร น้ำเสีย ฯลฯ

หากฝนตกๆ หยุดๆ ไม่ต่อเนื่อง มีแดดแรงในบางช่วง จะกลายเป็นตัวเร่งทำให้แพลงก์ตอนพืชที่ได้ทั้งธาตุอาหารและแสงแดดเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว

แพลงก์ตอนพืชจำนวนมหาศาลตายลงพร้อมกันและลงไปสู่พื้นทะเล เมื่อเกิดการย่อยสลายจะใช้ออกซิเจนจนถึงจุดวิกฤต ทำให้สัตว์น้ำบริเวณพื้นทะเลขาดออกซิเจนจนตาย

สังเกตกราฟของคณะประมง เพิ่งตรวจวัดวันนี้ ที่ใกล้พื้นเหลือออกซิเจนน้อยมาก โลกร้อนเข้ามาเพิ่มความเสียหายแก่ท้องทะเล เพราะน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นจนสร้างสถิติใหม่ต่อเนื่องทุกปี (เคยเล่าไปแล้วครับ)

น้ำร้อนจะแบ่งชั้นกับน้ำเย็น น้ำร้อนอยู่ด้านบน น้ำเย็นอยู่ด้านล่าง น้ำเย็นปรกติจะมีออกซิเจนน้อยอยู่แล้ว อาศัยการแลกเปลี่ยนจากมวลน้ำชั้นบน แต่เมื่อมวลน้ำร้อนเย็นต่างกันมาก แบ่งชั้นชัดเจน ทำให้ไม่ผสมผสาน ออกซิเจนในชั้นน้ำใกล้พื้นท้องทะเลยิ่งหมดไปเร็วขึ้น

...

สังเกตกราฟอีกที จะเห็นการแบ่งชั้นชัดเจน จากผิวน้ำถึงลึก 8 เมตร ออกซิเจนยังดีอยู่ แต่ลึก 8-10 เมตร ออกซิเจนลดลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม แพลงก์ตอนที่บลูมอยู่ตอนนี้เป็นชนิดปรกติ ไม่มีพิษ เรายังกินสัตว์น้ำที่จับมาได้  (ไม่ใช่ตักปลาตายในน้ำหรือบนหาดมากิน อันนั้นอาจท้องเสียซึ่งไม่เกี่ยวกับแพลงก์ตอน)

ผมเคยเล่าเรื่องแพลงก์ตอนบลูมหลายครั้ง หนนี้สถานีของคณะประมง มก. ออกสำรวจเก็บข้อมูลได้ทันเวลา จึงนำมาอธิบายให้เพื่อนธรณ์เข้าใจ นั่นคือความสำคัญของวิทยาศาสตร์ทางทะเล นั่นคือเหตุผลว่าทำไมโลกยิ่งร้อน ทะเลยิ่งเกิดผลกระทบ เรายิ่งต้องทุ่มทุนกับการสำรวจศึกษาทางวิชาการ ไม่งั้นเราจะไม่สามารถทำนายอะไรได้ และไม่สามารถป้องกัน/แก้ไข/รับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ครับ

หมายเหตุ - กำลังเขียนเรื่องผลกระทบจากโลกร้อนในเขต EEC ให้ Carbon Markets Club จะแชร์มาให้อ่านอีกทีครับ"