• แผ่นดินไหว คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่มนุษย์ไม่อาจคาดการณ์หรือพยากรณ์การเกิดเหตุได้อย่างแม่นยำ เพราะส่วนใหญ่เกิดจากเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเปลือกโลก
  • ปัจจุบันประเทศไทยพบกลุ่ม "รอยเลื่อนมีพลัง" 16 จุด ที่ยังมีโอกาสทำให้เกิด "แผ่นดินไหว"
  • ไขข้อสงสัย เหตุ "แผ่นดินไหว" ล่าสุดที่ จ.พิษณุโลก จะทำให้เกิดการค้นพบ "รอยเลื่อนมีพลัง" แห่งใหม่หรือไม่

จากเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 4.5 ช่วงกลางดึกของ จ.พิษณุโลก ที่ระดับความลึก 5 กิโลเมตรล่าสุดนั้น เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่สร้างตกใจให้กับใครหลายๆ คน เนื่องจากเป็นการเกิดแผ่นดินไหวระดับที่ตื้นมาก ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และจังหวัดเลย สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน และทำให้ผนังของบ้านเรือนหลายแห่งเกิดรอยร้าว

สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ เรียกได้ว่าแตกต่างจากที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงผลกระทบมาจาก เหตุแผ่นดินไหวของประเทศเพื่อนบ้าน หรือเกิดจาก "รอยเลื่อนมีพลัง" ของไทยมีการเคลื่อนตัว แต่เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์อยู่ที่ จ.พิษณุโลก ซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่จัดหวัดที่ 16 กลุ่ม "รอยเลื่อนมีพลัง" ของไทย พาดผ่าน

ซึ่งเกิดจากการเลื่อนตัวของ รอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน หรือ Hidden Fault ที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี จึงเป็นสิ่งกระตุ้นทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสำรวจพื้นที่เกิดดังกล่าว เพราะอาจจะนำไปสู่การค้นพบ "รอยเลื่อนมีพลัง" กลุ่มใหม่ ที่ต้องได้รับบันทึกไว้ว่าเป็น รอยเลื่อนตำแหน่งที่ 17 ของประเทศไทย

...

รู้จัก "แผ่นดินไหว" และสาเหตุ

แผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียด ที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลัน เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ โดยสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว แบ่งได้ 2 ชนิด ดังนี้

  • เกิดจากการกระทำของมนุษย์  ได้แก่ การทดลองระเบิดปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อน และแรงระเบิดของการทำเหมืองแร่ เป็นต้น 
  • เกิดจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดแผ่นดินไหวในปัจจุบัน ได้แก่ การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเปลือกโลก (Fault) การเคลื่อนที่ของหินหลอมเหลวใต้ภูเขาไฟ ที่ใกล้ระเบิด หรือ การตกกระทบผิวโลกของลูกอุกกาบาต เป็นต้น

"รอยเลื่อนมีพลัง" กับการเกิดแผ่นดินไหว

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งรอยเลื่อน หรือ รอยเหลื่อม หมายถึงรอยแตกแยกในหิน ที่การเคลื่อนที่ของหินทั้งสองข้าง โดยขนานกับระนาบรอยเลื่อน (fault plane)

ลักษณะของระนาบรอยเลื่อนนี้ อาจเป็นระนาบที่อยู่ในแนวดิ่งไปจนถึงแนวราบได้ ถ้าระนาบของรอยแตกมีค่าเบี่ยงไปจากแนวดิ่ง ชั้นหินที่อยู่เหนือระนาบของรอยแตก เรียกว่า หินเพดาน (hanging wall) ส่วนหินที่อยู่ด้านล่างระนาบของรอยแตกเรียกว่า หินพื้น (foot wall)

การจำแนกรอยเลื่อนมีได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการพิจารณา เช่น หากยึดการเกิดรอยเลื่อนเป็นเกณฑ์จำแนกได้ดังนี้

  1. รอยเลื่อนปกติ (normal fault) เป็นรอยเลื่อนที่หินเพดานเลื่อนลง เมื่อเปรียบเทียบกับหินพื้น
  2. รอยเลื่อนย้อน (reverse fault) เป็นรอยเลื่อนที่หินเพดานเลื่อนขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับหินพื้น ถ้ารอยเลื่อนย้อนมีค่ามุมเทเท่ากับหรือน้อยกว่า 45 องศาเซลเซียส เรียกว่า รอยเลื่อนย้อนมุมต่ำ (thrust fault)
  3. รอยเลื่อนตามแนวระดับ (strike-slip fault) หรือลอยเลื่อนเหลื่อมข้าง (transcurrent fault) เป็นรอยเลื่อนในหินที่สองฟากของรอยเลื่อนเคลื่อนตัวในแนวราบ

สำหรับเกิดรอยเลื่อน มักจะมีความสัมพันธ์กับลักษณะภูมิประเทศเสมอ เพราะจะทำให้เปลือกโลกยกตัวสูงขึ้น ลดระดับลง หรือ เอียงไปจากแนวเดิม นอกจากนี้ตามแนวรอยเลื่อน มักจะมีหินที่ถูกบดอัด หรือ กรวดเหลี่ยม ที่ลักษณะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณสองข้างของรอยเลื่อนนั้นๆ

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งประเภทของรอยเลื่อน ออกได้เป็นอีก 2 ลักษณะ คือ รอยเลื่อนมีพลัง และรอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง ดังนี้ 

  • รอยเลื่อนมีพลัง หรือ Active fault เป็นรอยเลื่อนบนเปลือกโลก ที่พบหลักฐานว่าเคยเกิดการเลื่อน หรือขยับตัวมาแล้ว ในช่วง 10,000 ปี จึงถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง มีโอกาสขยับตัวได้อีกในอนาคต ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ก็มักจะเกิดอยู่ในบริเวณของรอยเลื่อนเหล่านี้

  • รอยเลื่อนไม่มีพลัง หรือ Inactive fault คือ รอยเลื่อนที่ไม่พบหลักฐานว่า มีการเลื่อนมาเป็นเวลานานมากว่า 10,000 ปี แล้ว เเต่ก็ยังโอกาสขยับตัวได้ในอนาคต หากมีการเปลี่ยนแปลงระบบแรงภายในเปลือกโลกบริเวณนั้น

รู้จัก "กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง" 16 จุด ในประเทศไทย ที่อาจจะทำเกิดแผ่นดินไหว

สำหรับประเทศไทยนั้น พบว่ามี "กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง" จำนวน 16 รอยเลื่อน โดยกรมทรัพยากรธรณีได้อัปเดตข้อมูลล่าสุดในปี 2566 ซึ่งพบมากในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทยดังนี้ 

  1. กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต เป็นกลุ่มรอยเลื่อนตามแนวระนาบ ที่วางตัวขนานกับกลุ่มรอยเลื่อนระนองแบบเหลื่อมซ้าย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เมื่อปี 2558 ใน จ.พังงา ขนาด 4.5

  2. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ที่มีความสำคัญมากต่อประชาชนในกรุงเทพมหานคร พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว จ.กาญจนบุรี ขนาด 6.4 

  3. รอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่ กลุ่มรอยเลื่อนนี้แสดงลักษณะธรณีวิทยาโครงสร้าง และธรณีสัณฐานที่แสดงถึงการเลื่อนตัวครั้งใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ จ.แพร่ ขนาด 6.6

  4. รอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน จัดเป็นรอยเลื่อนปกติ เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวเป็นแนวยาว ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2478 บริเวณรอยต่อของประเทศไทย-สปป.ลาว ขนาด 6.5

  5. รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร แสดงลักษณะของ ผารอยเลื่อนหลายแนวและต่อเนื่องเป็นแนวตรง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2562 ที่ จ.ลำปาง ขนาด 4.9

  6. รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย วางตัวในทิศเหนือ-ใต้ ขนาบสองข้างของแอ่งที่ราบเพชรบูรณ์ โดยเอียงเทเข้าหากลางแอ่งทั้งสองด้าน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2533 ที่ จ.เพชรบูรณ์ ขนาด 4.0 

  7. รอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.ตาก และ จ.กำแพงเพชร มีแนวการวางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2518 ที่ จ.ตาก ขนาด 5.6 ประชาชนรู้สึกได้หลายหลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

  8. รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังสูง ทำให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งสำคัญเมื่อปี 2550 ขนาด 6.3 ในสปป.ลาว ส่งผลกระทบถึง จ.เชียงราย ผนังอาคารหลายหลังเสียหาย กรุงเทพมหานครสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูง

  9. รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย มีการเลื่อนตัวแบบรอยเลื่อนปกติ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2562 ที่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 4.1 ประชาชนรู้สึกได้ทั่วจังหวัด

  10. รอยเลื่อนแม่ลาว เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่าน จ.เชียงราย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2557 ที่ จ.เชียงราย นับว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในรอบกว่า 50 ปี ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน 

  11. รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย มีลักษณะธรณีสัณฐานที่บ่งบอกถึงความมีพลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว 5 ครั้ง ล่าสุด ปี 2554 ที่ จ.เชียงราย ขนาด 4.1 หลายอำเภอ รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

  12. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก ในอดีตมีการเลื่อนตัวหลายครั้ง ทำให้ธรณีสัณฐานเด่นชัดในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง คือ ทางน้ำแบบหุบเขารูปแก้วไวน์ และทำให้แผ่นดินไหวขนาดเล็กและขนาดปานกลางบ่อยหลายครั้งในพื้นที่รอยต่อ แค่ครั้งสำคัญคือ เมื่อปี 2556 ที่เมียนมา ขนาด 5.1 ประชนชนหลายจังหวัดในภาคเหนือรับรู้ถึงแรงสั่น

  13. รอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ. ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.พังงา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2549 ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 5.0 ประชาชนในหลายท้องที่รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนพื้นดิน

  14. รอยเลื่อนเวียงแหง มีลักษณะการเลื่อนแบบรอยเลื่อนปกติ พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 6.8

  15. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2526 ที่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ขนาด 5.9 สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพฯ

  16. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2541 บริเวณอำเภอท่าปลา ขนาด 3.2 ประชาชนรู้สึกได้ในหลายอำเภอ

เหตุแผ่นดินไหว จ.พิษณุโลก กับค้นพบ "รอยเลื่อน" แห่งใหม่

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด ที่มีศูนย์กลางมาจาก จ.พิษณุโลก นั้น เป็นเรื่องที่นักวิชาการหลายๆ ท่านความสนใจ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้ง 16 แห่ง กลับพบว่า เกิดจากรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน ซึ่งไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (สกสว.) เผยว่า เหตุแผ่นดินไหวในบริเวณดังกล่าว มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่ไม่บ่อยนัก ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ตรวจพบแผ่นดินไหวขนาด 4-5 หากรวมครั้งนี้ เกิดแผ่นดินไหวแค่เพียง 2 ครั้งเท่านั้น

สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว มักจะเกิดขึ้นจากรอยเลื่อนที่มีพลัง ซึ่งในบริเวณดังกล่าวแม้จะมีกลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ และ กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ แต่จากข้อมูลในเบื้องต้น พบว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ยังอยู่ห่างจากแนวของกลุ่มรอยเลื่อนทั้งสอง ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่า อาจมีสาเหตุจากรอยเลื่อนอื่น ที่ยังไม่ตรวจพบ หรือที่เรียกว่ารอยเลื่อนที่มองไม่เห็นทำเกิดแผ่นดินไหว

ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทย จะมีโอกาสพบรอยเลื่อนใหม่เพิ่มขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ แต่การจะเกิดแผ่นดินไหวโดยตรงบริเวณพื้นที่ภาคกลางของไทย ยังไม่พบข้อมูลชัดเจน แต่ที่สิ่งกังวล คือ ผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล เนื่องจากภาคกลางเป็นดินอ่อน

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า เหตุแผ่นดินไหว คือ ภัยพิบัติที่มนุษย์ยังไม่สามารถคาดการณ์ หรือพยากรณ์ได้แม่นยำ อีกทั้งยังเป็นภัยธรรมชาติ ที่ไม่เลือกเวลาเกิด และสามารถส่งผลกระทบข้ามประเทศได้ ทั้งทางตรง และทางอ้อมอีกด้วย

ดังนั้น สิ่งที่สามารถทำได้คือวิธีการในการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อทำให้เกิดความเสียหาย และสูญเสียน้อยที่สุดหากหากต้องเผชิญกับแผ่นดินไหว ทั้งการแจ้งเหตุเตือนภัยประชาชน และให้ความรู้เรื่องปฏิบัติตนเพื่อรักษาชีวิตให้ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกภาคส่วนต้องคำนึกถึง คือเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับการออกแบบ และก่อสร้างอาคาร ที่ต้องมีประสิทธิภาพได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อสามารถต้านแผ่นดินไหวได้อย่างดีที่สุด.

อ้างอิงข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี