อ.เจษฎา ให้ความรู้กรณี "ถังดับเพลิงระเบิดได้หรือไม่" หลังเกิดเหตุสลดในโรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนเสียชีวิต 1 ราย ชี้เรื่องนี้ยังต้องรอข้อมูลอีกมาก

วันที่ 23 มิ.ย. 66 ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กให้ความรู้ "ถังดับเพลิงระเบิดได้หรือไม่?" 

โดยระบุว่า อุบัติเหตุระหว่างการซ้อมดับเพลิงที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง มี "ถังดับเพลิง" ระเบิดขึ้น และทำให้มีนักเรียนเสียชีวิตด้วย (ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งครับ)  

ตามรายการข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. มีรายงานข่าวว่า เกิดเหตุระเบิดที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม เขตดุสิต ระหว่างซ้อมดับเพลิง พื้นที่ สน.นางเลิ้ง สำหรับถังดังกล่าว ลักษณะเป็นถัง Co2 ได้เกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้มีนักเรียนชาย เสียชีวิต 1 ราย และมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บอีกหลายราย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างทำการตรวจสอบและสอบสวนว่า หน่วยงานใดเข้าทำการซ้อมแผนอพยพหนีไฟในครั้งนี้ 

ในระหว่างที่รอข้อมูลรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ...มีนักข่าวติดต่อมาถามว่า คือมันเกิดขึ้นได้ยังไง? ถังดับเพลิงระเบิดได้ด้วยเหรอ?

ซึ่งขอออกตัวว่าเรื่องนี้ยังต้องรอข้อมูลอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของวิธีการที่เขาซ้อมดับเพลิงกัน, ปัญหาว่าเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้น และสภาพของถังดับเพลิงนั้น ว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีแค่ไหน?

ปกติแล้วในการผลิตถังดับเพลิงขึ้นมานั้น จะต้องทดสอบว่า ถังดับเพลิงมีโอกาสระเบิดได้หรือไม่ โดยจะต้องทนทานต่อนำไปเผาไฟ ให้ได้ที่ระดับ 64 องศาเซลเซียส, เอาไปอัดความดันให้ได้ 4 เท่าของค่าปกติ, และตกจากที่สูงระดับ 8 เมตร โดยที่ยังมีสภาพใช้งานได้เหมือนเดิม

...

แต่รายการ Mythsbuster รายการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์รายการดังของต่างประเทศ ก็เคยมีการทดลองเอาถังดับเพลิงไปเผาไฟ พบว่ามันสามารถระเบิดได้ครับ ซึ่งเครื่องดับเพลิงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างยิ่ง จึงควรบำรุงรักษาเพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานต่อเหตุไม่คาดคิดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่เสมอ 

สถานที่ติดตั้ง

- หลีกเลี่ยงการติดตั้งไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง มีความชื้นสูง หรือเกิดความสกปรกได้ง่าย เช่น ตากแดด ตากฝน หรือติดตั้งใกล้จุดกำเนิดความร้อนต่างๆ เช่น เตาไฟ หรือเครื่องจักรที่มีความร้อนสูง

การบำรุงรักษา

- ทำความสะอาดตัวถัง และอุปกรณ์ (สายฉีด, หัวฉีด) เป็นประจำเพื่อตรวจดูสภาพตัวถังและอุปกรณ์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และมีสภาพใหม่อยู่เสมอ

- หากเป็นเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ควรยกถังพลิกคว่ำ-หงาย ประมาณ 5-6 ครั้ง ทุกๆ 3-6เดือน เพื่อให้ผงเคมีมีการเคลื่อนตัวและไม่จับตัวเป็นก้อน

- เครื่องดับเพลิงที่มีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป ควรส่งมาตรวจสอบที่บริษัทเพื่อตรวจเช็กสภาพของตัวเครื่องและทำการถ่ายเคมีออกและบรรจุใหม่

- ถ้าแรงดันในถังเกิน (OVERCHARGE) สูงกว่าแรงดันปกติ (195 psi) สภาพถังอาจจะบวมหรือแตกออก หากแรงดันขึ้นสูงเกิน 1000psi อาจทำให้เกิดอันตรายเนื่องจากถังอาจระเบิดได้!!! ควรติดต่อบริษัทให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน หมายเหตุ: 

- เครื่องดับเพลิงชนิด CO2 จะไม่มีมาตรวัดแรงดัน ผู้ใช้สามารถตรวจวัดก๊าซ ภายในถังได้โดย วิธีชั่งน้ำหนัก หากน้ำหนักก๊าสภายในถังลดลงต่ำกว่า 80% ควรติดต่อบริษัทเพื่อทำการดำเนินการบรรจุใหม่ในทันที

และในอดีตก็เคยมีข่าวกรณีที่ถังดับเพลิงระเบิดเกิดขึ้นเอง (ไม่ได้เอาไปเผาไฟ) ได้ด้วยครับ โดยเฉพาะในกรณีของถังที่เก่า มีการเสื่อมสภาพ หรือเคยนำมาเติมสารเคมีลงไป