"กรมทรัพยากรธรณี" เผยความเสี่ยงของกรุงเทพฯ และประเทศไทย จากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย ในเมียนมา พร้อมเผยโอกาสเกิดแผ่นดินไหว-สึนามิ ที่กระทบต่อจังหวัดทางฝั่งทะเลอันดามัน
วันที่ 20 มิถุนายน 2566 มีรายงานว่า กรมทรัพยากรธรณี แถลงข่าวรายงานสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 (15.266°N, 96.248°E) บริเวณตอนเหนือของทะเลอันดามัน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
โดยมี ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วย ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายธนิต ใจสะอาด หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง และนายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษา ทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี
ระบุว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณตอนเหนือของทะเลอันดามัน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 490 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) จำนวน 1 ครั้ง ขนาด 3.6 เวลา 08.57 น.
...
ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เผยว่า เกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัว ประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี ทั้งนี้ รอยเลื่อนสะกายนี้ เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต เช่นเมื่อปี พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.3 และทำให้มีผู้เสียชีวิตในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มากกว่า 500 คน
โดยสรุปสถิติแผ่นดินไหวในรอบ 50 ปี (พ.ศ. 2516-2566) ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9-7.0 โดยเหตุการณ์ขนาด 7.0 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2534 ที่เมือง Mogok สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (หมายเหตุ : แผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อน ที่รัศมี 60 km จากแนวรอยเลื่อนสะกาย)
กรุงเทพมหานคร มีความเสี่ยงขนาดไหน
- กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ทั้งที่เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะใกล้ เช่น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะไกล เช่น รอยเลื่อนสะกายในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หากเกิดแผ่นดินไหว จากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ทั้งระยะใกล้และระยะไกล ชั้นดินเหนียว ในพื้นที่แอ่งที่ราบลุ่มภาคกลาง สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวสูงถึง 3 เท่า
- กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อน (ดินเหนียวกรุงเทพ) ซึ่งสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า จึงทำให้อาคารสูงสั่นโยก และอาจจะเสียหายได้
- อาคารสูงที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2550 ที่ไม่ได้ออกแบบให้ต้านแรงแผ่นดินไหว
ประเทศไทย มีกลุ่มรอยเลื่อน มีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด โดยปัจจุบันรอยเลื่อน ที่พบว่ามีการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหว
บริเวณภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา (พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน) กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว (พาดผ่านจังหวัดเชียงราย) โดยพบแผ่นดินไหวขนาด 2-4.5 (จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก) ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ไม่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง แต่ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้
สำหรับบริเวณภาคใต้ พบว่ามีกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (พาดผ่านจังหวัดพังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่) และกลุ่มรอยเลื่อนระนอง (พาดผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง) โดยจากประวัติการเกิดแผ่นดินไหวพบว่า มีขนาดไม่เกิน 4.5 เกิดขึ้น 3-4 เดือนต่อครั้ง ซึ่งมีความถี่ในการเกิดน้อยกว่า กลุ่มรอยเลื่อนบริเวณภาคเหนือ
สำหรับโอกาสการเกิดแผ่นดินไหว ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ที่เฝ้าระวังกันว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดนี้ อาจเกิดสึนามิกระทบต่อจังหวัดทางฝั่งทะเลอันดามัน มีดังนี้
- แผ่นดินไหว ที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อน Sagaing Fault ในทะเลอันดามัน รอยเลื่อนนี้วางตัวในแนว N-S แผ่นดินไหวมีกลไกแบบ Strike-slip moment จึงมีโอกาสทำให้เกิดสึนามิน้อยมากๆ ถึงไม่มีโอกาสเลย เพราะเป็นรอยเลื่อนแบบ Strike-slip moment และขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่เคยเกิดคือ Mw 6.8
- แผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อน Andaman Back-Arc Spreading Center และ Transform fault รอยเลื่อนเหล่านี้อยู่ทิศตะวันออกของหมู่เกาะ Andaman islands เนื่องจากบริเวณนี้สัมพันธ์กับการเกิดแอ่งในทะเลอันดามัน แผ่นดินไหวในบริเวณนี้จึงมีกลไกแบบ Normal และ Strike-slip moment
- โอกาสเกิดสึนามิจากแผ่นดินไหวในบริเวณที่เกิดแอ่งใหม่ (Back-Arc Spreading zone) นี้มีไม่มากนัก ถึงแม้รอยเลื่อนจะเป็นแบบ normal moment แต่ขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่เคยเกิดคือ Mw 5.6 หากเกิดสึนามิน่าจะเป็น Local tsunami ไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย
- โอกาสเกิดสึนามิจากแผ่นดินไหวในบริเวณ Transform fault ที่มีแนวการวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ มีโอกาสน้อยมากๆ ถึงไม่มีโอกาสเลย เพราะเป็นรอยเลื่อนแบบ Strike-slip moment และขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่เคยเกิดคือ Mw 6.5
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรธรณี