• รู้จัก CSTD Thailand Dance Grand Prix เวทีแข่งขันศิลปะการเต้นแห่งแรกในประเทศไทย 
  • คุยกับ "ครูปุ๊ก-น้องข้าวหอม" เจ้าของ 2 รางวัลใหญ่ เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งเต้นระดับนานาชาติ ณ เวที Asia Pacific Dance Competition
  • ภาพรวมวงการเต้นของไทยเทียบระดับสากล พร้อมแนะเส้นทางสู่นักเต้น ไม่ใช่แค่ "พรสวรรค์" แต่ต้องมีความอดทนและวินัย 

"CSTD Thailand Dance Grand Prix" ถือว่าเป็นการแข่งขันศิลปะการเต้นแห่งแรกที่คงมาตรฐานและความยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ 2566 ได้จัดขึ้นครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 26 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเฟ้นหาตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขันศิลปะการเต้นระดับนานาชาติ ณ เวที Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 24 ณ ประเทศมาเลเซีย ร่วมกับตัวแทนอีกกว่า 16 ประเทศทั่วโลก

โดยในวันนี้ J. Mashare ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของ 2 รางวัลยิ่งใหญ่ที่ผ่านมา ประเภทสถาบันยอดเยี่ยม (Best School Aggregate Cup) และประเภทคะแนนรวมบุคคลสูงสุด (Aggregate Solo Cup) ที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่ประเทศมาเลเซีย เกี่ยวกับเบื้องหลังการฝึกซ้อม การเตรียมตัว รวมไปถึงเส้นทางความฝันของการเป็นนักเต้นอาชีพ ที่ไม่ใช่แค่พรสวรรค์ แต่ยังต้องใช้ความอดทนและวินัยอย่างมาก

...

จากการสอบถาม น้องข้าวหอม หรือเด็กหญิง ปพิชญา นุ่มทอง อายุ 13 ปี เยาวชนนักเต้นที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานฯ ประเภทคะแนนรวมบุคคลสูงสุด (Aggregate Solo Cup) กล่าวว่า ปัจจุบันเรียนระดับชั้น ม.2 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และเรียนเต้นที่สถาบัน Point Studio 

สำหรับจุดเริ่มต้นในการเรียนเต้น ในตอนเด็กหนูเป็นคนที่ชอบดูการ์ตูนมากๆ แล้วในเรื่อง การ์ตูนบาร์บี้ มีตอนหนึ่งที่ทำให้หนูอยากเต้นอยากเป็นแบบนั้น ในตอนแรกไปสมัครเรียนที่หนึ่งแต่เขาบอกว่าหนูเด็กไป ตอนนั้นอายุประมาณ 3 ขวบ จึงมาสมัครที่ Point Studio ซึ่งเขาก็รับแล้วก็เรียนมาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มแข่งขันครั้งแรกตอนอายุ 9 ขวบในเวที CSTD Thailand Dance Grand Prix รวมไปถึงเวทีต่างๆ ซึ่งทางครอบครัวก็สนับสนุนการเต้น

สำหรับประโยชน์ของการเรียนเต้น ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้แค่ฝึกเต้น ฝึกสมาธิอย่างเดียว แต่ทำให้ตนเองมีวินัยมากขึ้น อย่างเช่น นัดซ้อม 9 โมงจะต้องไปก่อนครึ่งชั่วโมงเพื่อเตรียมตัว วอร์มร่างกาย หลังจากเลิกเรียนก็ต้องไปซ้อมเต้น อย่างช่วงที่เรียนประถม เลิกเรียนตอนบ่าย 3 โมงครึ่ง จะไปซ้อมถึง 4-5 โมง แล้วก็ซ้อมต่อเรื่อยๆ จนถึง 2-3 ทุ่ม 

เมื่อถามว่าหากไม่อยากเป็นนักเต้นอยากจะทำงานเกี่ยวกับอะไร น้องข้าวหอม ตอบว่า คงจะเป็นงานเกี่ยวกับการออกแบบชุด แต่ความใฝ่ฝันจริงๆ ก็อยากเป็นนักเต้น ได้ไปเรียนเต้นที่ต่างประเทศ 

น้องข้าวหอม กล่าวอีกว่า เวที CSTD Thailand Dance Grand Prix ครั้งที่ 10 ที่ผ่านมา เป็นเวทีการแข่งขันหลากหลายประเภทมากๆ ไม่ว่าจะเป็น บัลเลต์, แจ๊สแดนซ์, คอนเทมโพรารี แดนซ์, บัลเลต์ ลาลีเคิล, แท็ปแดนซ์, ฮิปฮอป, ร้องและเต้น, เต้นเล่าเรื่องราว ซึ่งรูปแบบการแข่งขัน ไม่ใช่แค่แบบ 1 คน (Solo) แต่ยังมีแบบ 2-3 คน (Duos/Trios), กลุ่มเล็ก 4-6 คน (Ensembles) และแบบกลุ่มใหญ่ (Troupes) ในการเตรียมตัวจะฝึกซ้อมให้มากขึ้น ตั้งใจซ้อม มาตรงเวลา ในการแข่งครั้งนี้ลงทั้งหมด 7 ประเภท แต่เต้น 8 โชว์ เพราะแบบ Championship ต้องเต้น 2 โชว์ 

"ในส่วนการเตรียมตัวไปแข่งที่มาเลเซีย ก็จะเพิ่มการเรียนให้มากขึ้น แก้ไขข้อผิดพลาด และปรับเปลี่ยนรายละอียดการเต้นให้มีความสะอาดเรียบร้อยและดียิ่งขึ้น และสุดท้ายนี้ หนูขอบคุณทุกแรงเชียร์ หนูจะทำให้เต็มที่ และดีที่สุดในเวทีที่จะถึงค่ะ"

ด้าน คุณอัจฉรา หิรัญแพทย์ หรือ ครูปุ๊ก ครูใหญ่และผู้กำกับศิลป์ WEDANCE Dance Studio ผู้ชนะเลิศ ประเภทสถาบันยอดเยี่ยม (Best School Aggregate Cup) เปิดเผยว่า CSTD International ออสเตรเลีย มีมาแล้ว 90 ปี ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 90 มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ให้กับการก่อตั้งที่มีมาอย่างยาวนาน 

โดยคุณต้อย วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ได้นำหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เข้มแข็งและมีคุณภาพเข้ามาในประเทศไทยรวมแล้ว 25 ปีแล้ว นานมาก นานที่สุดในประเทศไทยตอนนี้เลย เป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมทุกสาขา และได้การจัดการแข่งขัน CSTD Thailand Dance Grand Prix ปีนี้จัดเป็นปีที่ 10 ถือว่าเป็นเวทีที่แข่งขันเกี่ยวกับด้านเทคนิคการเต้นระดับสูง เป็นเวทีที่มีศักยภาพสูงสุด เนื่องจากกรรมการถูกคัดมาอย่างเข้มข้นและได้รับการรับรองจาก CSTD ออสเตรเลีย มาเป็นกรรมการที่ให้คะแนนเกี่ยวกับการแข่งขันทุกประเภท เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปแข่งต่อในระดับเอเชียแปซิฟิก 16 ประเทศทั่วโลกที่เข้ามาเป็นสมาชิกของ CSTD

สำหรับนักเต้นที่จะเข้าร่วมการแข่งขันของ CSTD Thailand Dance Grand Prix สามารถสมัครเข้ามาแข่งขันได้แบบไม่จำกัด โรงเรียนสามารถสมัครเข้ามาแข่งขันได้แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ชนะและถูกคัดเลือกที่จะไปแข่งต่อในระดับเอเชียแปซิฟิกจะต้องเป็นสมาชิกของหลักสูตร CSTD เท่านั้น ดังนั้นหากให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเต้นเลย ทางโรงเรียนที่ส่งประกวดควรจะเป็นสมาชิกของ CSTD ด้วย

ครูปุ๊ก กล่าวอีกว่า ในปีนี้มีนักเต้นเข้าร่วมการแข่งขันเยอะมากกว่า 1,000 ระบำ นักเต้นนับ 1,000 คน จัดต่อเนื่องเป็นเฟสติวัล ซึ่งในส่วนของสถาบัน we dance ได้เข้าการแข่งขัน CSTD Thailand Dance Grand Prix ในปีที่ 2 ของการแข่งขัน รวมแล้วเข้าร่วมการแข่งขันมาแล้ว 9 ปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า มีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก การแข่งขันยากขึ้นทุก ๆ ปี นักเต้นและคุณครูทำงานหนัก เพราะการแข่งขันมีความแข็งแรงขึ้น นักเต้นก็เก่งขึ้น ระบำก็สวยขึ้น มีคุณภาพเทียบเท่าสากล

ในการแข่งขันปีแรก เราได้สะสมประสบการณ์แล้วกลับมาปรับชิ้นงานให้แข็งแรงเพื่อให้นักเรียนของเรามีโอกาสได้เข้าไปเป็นตัวแทนเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีความยากมากขึ้นทุกปีเลย ยิ่งปีนี้ยิ่งมาก แต่การแข่งขันในปีนี้ของ WEDANCE ถือว่าประสบความสำเร็จและเกินความคาดหมาย เราดีใจมากที่ได้ถ้วยรางวัลพระราชทานสูงสุดประเภทโรงเรียนดีเด่น ซึ่งเป็นความร่วมมือของทุกคนในโรงเรียนที่ทำงานร่วมกัน ในปีนี้เราส่งทั้งหมด 66 ระบำ แบ่งเป็นระบำกลุ่ม 10 ระบำ ระบำคู่ 7 ระบำ ที่เหลือจะเป็นระบำเดี่ยว ถือว่าปีนี้ทำงานหนัก ผลงานดี สำหรับรางวัลสถาบันยอดเยี่ยม คิดคะแนนจากการที่ได้คะแนนจากระบำแบบกลุ่มสูงสุด ซึ่งทางสถาบันได้รับรางวัลนี้เป็นปีแรก 

ครูปุ๊ก กล่าวอีกว่า การเตรียมตัวของเด็กๆ ก่อนการแข่งขัน แท้จริงแล้วเป็นความเข้มข้นตั้งแต่การเรียนในห้องเรียนเลย สำคัญที่สุด การเตรียมตัวคือ หลังจากเราเรียนอย่างเข้มข้น เก็บรายละเอียดตลอด เราก็มาทำระบำสำหรับการแข่งขัน แล้วก็ฝึกซ้อมอย่างหนัก เก็บรายละเอียดเยอะที่สุด และไม่ง่ายเลยที่เด็กๆ จะมีวินัยและความอดทนแบบนี้ อันนี้สำคัญมากที่จะทำให้การเรียนการซ้อมมีคุณภาพสูง โดยเด็กที่เข้าร่วมอายุน้อยที่สุด 6 ขวบ ซึ่งเวทีนี้ อายุน้อยที่สุดจะเป็นรุ่นอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่จริงเริ่มได้ตั้งแต่ 4 ขวบ ในรุ่นไม่เกิน 5 ขวบ  

หลังได้รับรางวัลนี้มีการเตรียมตัวอย่างไร

ครูปุ๊ก กล่าวว่า ตอนนี้เตรียมตัวกันหนักมาก ตั้งแต่ที่เราทราบผลรางวัลว่าเราเป็นตัวแทนประเทศไทย เราก็รอเอกสารจากเอเชียแปซิฟิก มีการเตรียมตัวอย่างเข้มข้น ซ้อมหนักเหมือนเดิม ทั้งในส่วนของตัวนักเต้นเอง เรื่องครอบครัว การเรียน เราทำเต็มที่มากขึ้น เพื่อให้นักเต้นพร้อมที่สุดเลย 

เมื่อถามถึงจุดเด่นและข้อได้เปรียบของเรา คิดว่าคือ วินัย เพราะนักเรียนของเราส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีวินัย ขึ้นชื่อเรื่องการเต้นที่สะอาด แข็งแรง ซึ่งในการแข่งขันเวที Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 24 ณ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 17-27 สิงหาคม ทาง WEDANCE เป็นตัวแทนทั้งหมด 28 ระบำ การเตรียมความพร้อมตอนนี้กว่า 70% แล้ว อีก 30% จะเป็นเรื่องของการเดินทาง การจองโรงแรม ที่พักสำหรับนักเต้น

ภาพรวมวงการเต้นของไทย

ครูปุ๊ก กล่าวว่า วงการเต้นของไทยในตอนนี้มีการพัฒนาขึ้น เรียกว่าเทียบเท่ากับระบบสากล สามารถไปแข่งกับฝรั่งได้ อยู่ในอันดับต้นของเอเชียแปซิฟิก ถือว่าประเทศอื่นก็ต้องกลัวเรา 

เมื่อถามถึงอุปสรรค ส่วนตัวคิดว่า อยากให้ภาครัฐและเอกชนสนับสนุนการเต้นมากขึ้นไปอีก ซึ่งขณะนี้มีกระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาช่วยสนับสนุนดูแลการแข่งขัน แต่หากมีหน่วยงานอื่นเข้ามาซัพพอร์ต ทำให้การเต้นกระจายออกไปที่สู่พื้นที่ต่างๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดใหญ่ๆ อย่างเช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ หรือจังหวัดอื่นที่อยู่ไกล จะช่วยให้ไปถึงคนได้เยอะขึ้น ทำให้เยาวชนมีโอกาส เพราะปัจจุบันสื่อควรจะไปไกลมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนา เกิดการแข่งขัน ช่วยยกระดับการเต้นของบ้านเราอีก เวทีการแข่งขันในตอนนี้ทุกที่พยายามผลักดันเต็มที่ แต่ในพื้นที่ห่างไกลต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาประเทศด้วย แต่หากพูดถึงวงการเต้นโดยรวมแล้วก็โอเคมากๆ

เส้นทางนักเต้น อดทนและมีวินัย

สำหรับผู้ที่มีความฝันเป็นนักเต้น สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องมีความอดทนและมีวินัยในการเรียน ก่อนจะเป็นนักเต้นได้ต้องเข้าคลาสเรียนก่อนแบบจริงจัง มุ่งมั่น ไม่ใช่เรียนเพื่อสนุกเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราเต้นได้จริงๆ จะสนุกเอง ถ้าทุกคนมีความตั้งใจมีความอดทน มีวินัยสูงเชื่อใครๆ ก็จะทำได้ดี โดยวัยที่เหมาะสมเร่ิมต้นตั้งแต่อายุ 6-7 ปี เป็นช่วงวัยเรียนรู้ แต่ก็ไม่จำกัด เพราะผู้ใหญ่ก็สามารถเรียนได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สามารถติดตามการแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition ได้ที่ช่องทางต่างๆ ของทาง CSTD Thailand เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ ที่จะคอยอัปเดตข้อมูลข่าวสาร มีไลฟ์สดพานักเต้นไปยังมาเลเซีย มีการอัปเดตกิจกรรมให้ชมกันตลอด

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนตุลาคมยังเตรียมพบกับงานใหญ่ "CSTD DAY 2023" ในโอกาสครบรอบ 90 ปี CSTD ออสเตรเลียโดยจะมีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อร่วมเฉลิมฉลองพร้อมกันทั่วโลก โดย CSTD ประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากสถาบันสอนเต้นชั้นนำกว่า 50 สถาบันทั่วประเทศ พร้อมการรวมตัวของกูรูด้านการเต้นเพื่อถ่ายทอดให้ความรู้ด้านศิลปะการเต้นฟรีแก่เยาวชนไทยที่มีใจรักการเต้นทั่วประเทศไทยกับหลากหลายศาสตร์การเต้น