"สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน" ออกแถลงการณ์ กรณีแพทย์ลาออก ชี้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมาตลอด ทำงานเกือบ 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผิดหวัง "สธ." ชี้แจง ไม่พูดถึงปัญหาหลัก
วันที่ 7 มิถุนายน 66 จากกระแสแพทย์ลาออกจาก สธ. ล่าสุด "สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน" ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า จากกระแส "แพทย์ลาออกจาก สธ." ที่เป็นประเด็นทางสังคมในปัจจุบัน จนถึงการแถลงข่าวในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2566 ซึ่งจัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานขอขอบคุณทางกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการตอบสนองต่อกระแสดังกล่าว และเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันในด้านปัญหาการขาดแคลนแพทย์, การสูญเสียแพทย์ออกจากระบบ และการให้บริการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จากสาเหตุภาระงานมากเกินศักยภาพ ทั้งจำนวนชั่วโมงที่ติดต่อนานกันสูงสุดมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับภาระงานที่แพทย์ต้องรับผิดชอบ ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ยอมรับถึงปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ แก่สาธารณชน
การทำงานเป็นระยะเวลาต่อเนื่องมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วย ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐได้มองข้ามความสำคัญ ทำให้ปัญหาส่วนนี้ฝังรากลึกในระบบสาธารณสุขไทยมาเป็นระยะเวลานาน การแถลงถึงข้อจำกัดและการแก้ไขปัญหาโดยปราศจากความชัดเจน อีกทั้งยังไม่ได้พูดถึงปัญหาหลักอย่างการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร การแก้ไขปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการจัดสรรภาระงาน หรือการเพิ่มการเข้าถึงการบริการสุขภาพในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานได้พยายามเชิญรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเข้าร่วมการประชุมและหาทางออกร่วมกันจากหลายภาคส่วน แต่ไม่ได้รับการตอบกลับมาแต่อย่างใด จนถึงวันนี้ พวกเราแพทย์ กลับได้คำตอบเพียงว่า ปัญหาเหล่านั้นอยู่นอกเหนือความสามารถของกระทรวงที่จะปรับเปลี่ยนเรื่องค่าตอบแทนและตำแหน่งเพิ่มเติมที่เหมาะสมให้กับแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งในฐานะผู้บริหารระบบสาธารณสุขของประเทศ
ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานขอยืนหยัดเคียงข้างแพทย์ผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน ไม่ว่ากี่รัฐบาลจะเปลี่ยนผ่าน เราจะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนกว่าวิชาชีพของพวกเรา จะสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้โดยปราศจากความกังวลและแรงกดดันจากการทำงานที่ถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนถัดไป จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ที่ขัดขวางการพัฒนาวงการแพทย์และระบบสาธารณสุขไทย โดยยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง หยุดเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วย คืนความเป็นมนุษย์ให้แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ด้วยความหวังที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง.
...
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน