• เปิดประวัติ "วันงดสูบบุหรี่โลก" วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี และคำขวัญวันงดสูบบุหรี่ปี 2566
  • เปลี่ยนความคิดและทำความเข้าใจใหม่ "บุหรี่ไฟฟ้า" ไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ แถมยังมีอันตรายไม่ต่างกัน
  • เปิดโทษของ "บุหรี่ไฟฟ้า" ภัยต่อคนสูบ ที่เป็นมากกว่าโรคร้าย

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ประชากรไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 57 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ถึง 9.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.4 โดยเป็นผู้ชาย มากกว่าผู้หญิง ถึง 20 เท่า และในแต่ละปี ก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก

เนื่องจากในควันบุหรี่มีสารอันตรายจำนวนมาก โดยเฉพาะ "นิโคติน" เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต ทำให้หัวใจเต้นเร็ว การได้รับสารนิโคตินในระดับที่สูง จึงเป็นอันตรายที่ส่งผลถึงชีวิต

ดังนั้นเนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2566 นี้ จึงเชิญชวนให้ประชาชนคนไทยทุกคน หันมาใส่ใจสุขภาพตนเอง ด้วยการเลิกบุหรี่ เพื่อการรักษาสุขภาพของตนเอง และคนรอบข้าง

...

31 พฤษภาคม ของทุกปี คือ "วันงดสูบบุหรี่โลก"

วันงดสูบบุหรี่โลก หรือ World No Tobacco Day ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี จัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1988 โดยองค์การอนามัยโลก เนื่องจากเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ของผู้สูบบุหรี่ และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ โดยมีคำขวัญว่า "บุหรี่หรือสุขภาพต้องเลือกสุขภาพ"

สำหรับจุดประสงค์ ของการจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ ให้รัฐบาลชุมชน และประชากรโลก ตระหนักถึงความสำคัญ เข้าร่วมกิจกรรม และกระตุ้นให้รัฐบาลกำหนดนโยบาย กฎหมาย เพื่อควบคุมยาสูบ เพราะการสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้

ทำให้วันนี้ในทุกๆ ปี แต่ละประเทศจะมีการจัดกิจกรรม ประชาสัมพันธ์ หรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโทษและอันตรายจากบุหรี่ เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม และเกิดความตระหนักรู้ เกี่ยวกับโทษของบุหรี่ ที่มีผลต่อสุขภาพ ของผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่

คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก 2566 "บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย"

ในวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2566 นี้ ประเทศไทย ได้กำหนดคำขวัญสำหรับรณรงค์ คือ "บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย" ซึ่งนายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้เหตุผลว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ไฟฟ้า สามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้ หรือ บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวน มีสารนิโคตินเหมือนกัน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด และทำให้เกิดโรคสมองติดยา แบบเดียวกับที่เกิดในเฮโรอีนและยาบ้า

นอกจากนี้ ยังมีสารปรุงแต่งกลิ่นรส ที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดได้เช่นกัน การสูบบุหรี่ไฟฟ้า จึงไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ แต่ผู้สูบจะเปลี่ยนจากการติดบุหรี่มวน มาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน และการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ก็ไม่ได้อันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลข้างเคียงได้เร็ว

รวมถึงส่งผลต่อร่างกายทั้งหลอดเลือด สมอง หัวใจ ระบบการหายใจ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ จากการทดลองในหนู ที่หายใจเอาไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ปอด พบว่า เยื่อบุหลอดลม และถุงลมปอดเกิดการอักเสบ และเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับปอดของหนู ที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะแรก ที่พบในโรคถุงลมโป่งพอง 

ขณะที่นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า บุหรี่ทุกชนิด เป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูบ รวมไปถึงคนรอบข้าง เป็นสาเหตุสำคัญ ของการเกิดโรคเรื้อรังในหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคหัวใจและหลอดเลือด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น 

เปลี่ยนความคิดใหม่ ทำความเข้าใจกับ "บุหรี่ไฟฟ้า" ให้ถูกต้อง

  • บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตราย และไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้

บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง ของคนรุ่นใหม่บางกลุ่มที่มักพกติดกระเป๋า และหยิบขึ้นมาพ่นใช้งาน เพราะความเชื่อที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าคือทางเลือกใหม่ที่ดูทันสมัย ปลอดภัยมากกว่าบุหรี่มวนธรรมดา หรือที่บอกว่า เป็นตัวช่วยให้เลิกบุหรี่ทั่วไปได้ นั้นไม่เป็นความจริง

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2564 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเลิกบุหรี่ได้ สูงถึงร้อยละ 43.3 ซึ่งความจริง บุหรี่ไฟฟ้านอกจากไม่ใช่ตัวช่วยเลิกบุหรี่ใดๆ แล้ว ยังเป็นประตูที่เปิดให้นักสูบหน้าใหม่อย่างผู้หญิง และกลุ่มวัยรุ่นที่เคยไม่สนใจสูบบุหรี่อีกด้วย 

  • บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ไม่น้อยกว่าไปบุหรี่ธรรมดา

คนใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ มักจะบอกกับคนรอบตัวว่า น้ำยาที่ใช้ไม่มีนิโคติน หรือปรับปริมาณสารนิโคตินในน้ำยาได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังเป็นสารเสพติดที่เลิกสูบได้ยาก ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา รวมทั้งยังมีสารอื่นๆ มากถึง 50-100 ชนิดที่อยู่ในรายชื่อของสารอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย

  • บุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหอม สูบที่ไหนก็ได้

ในสังคมปัจจุบัน เรามาจะเห็นภาพคนทั่วไปพ่นควันบุหรี่ไฟฟ้าภายในสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฯลฯ เพราะมีความเข้าใจว่า "บุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหอม สูบที่ไหนก็ได้" ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากพ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ได้ระบุชัดเจนว่า "ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะ หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท"

เปิดโทษ "บุหรี่ไฟฟ้า" ภัยต่อคนสูบ ที่เป็นมากกว่าโรคร้าย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ความสะดวกในการพกพา ง่ายต่อการสูบ และสามารถเลือกกลิ่นรสได้หลากหลาย ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะมีโรคภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้สูบแล้ว โทษของครอบครอง นำเข้า ผลิต และขายบุหรี่ไฟฟ้า ก็ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ดังนี้

  • กรณีผู้ขาย หรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทน รวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า กฎหมายกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรฯ โดยผู้ใดนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย
  • นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้
  • ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ผู้ครอบครอง ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร โดยถูกต้อง ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจําทั้งปรับ 

อย่างไรก็ตาม เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2566 นี้ จึงขอเชิญชวน ให้ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ใช้โอกาสนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งใจ ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อสุขภาพของตนเอง และคนใกล้ชิด หากประสบปัญหา เกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th

หรือสถาบันบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือ ศูนย์บริการช่วยเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.)