ปม "ครูพี่เลี้ยง" ทำร้ายร่างกายเด็กใน "สถานสงเคราะห์" จ.สระบุรี ล่าสุด ตำรวจแจ้งความดำเนินดคีแล้ว ส่วนเด็กที่ถูกทารุณ ขณะนี้อยู่ในความดูแลของนักสังคมสงเคราะห์-นักจิตวิทยา

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก Thanya Wannasathit ได้โพสต์เรื่องราวสะเทือนใจ ระบุข้อความว่า ได้รับรู้เรื่องนี้มา ไม่นิ่งนอนใจ ที่จะหาทางตีแผ่สู่สังคม เด็กกว่า 280 ชีวิต ต้องเผชิญกับความโหดร้าย จากสังคมภายนอกมาแล้ว ยังต้องมาเจอความโหดร้ายจากผู้ดูแล ทำไมมาตรการการทำผิดต้องมีห้องมืด ฝากสื่อด้วยนะคะ ยินดีให้ข้อมูล ฝากแชร์ เพื่อเป็นสะพานบุญให้เด็กหลายร้อยชีวิตด้วยนะคะ

ต่อมา เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สระบุรี (พมจ.) พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระพุทธบาท ได้ลงพื้นที่ไปยังสถานสงเคราะห์เด็กหญิงจังหวัดสระบุรี ต.พระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี สถานที่ที่ถูกอ้างว่าเป็นสถานที่ทำร้ายร่างกายเด็กดังที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยทีมสหวิชาชีพได้นำเด็กที่ถูกพี่เลี้ยงในบ้านพักทำร้ายร่างกาย เข้าไปสอบถามข้อเท็จจริง 

...

พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผบก.ภ.จว.สระบุรี เผยว่า เบื้องต้น มีการสอบปากคำเด็กไปบางส่วน ทราบว่าจุดเกิดเหตุเป็นบ้านหลังที่ 3 ชื่อ "บ้านทานตะวัน" ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวมีเด็กอาศัยอยู่ 40 คน โดยผู้ก่อเหตุเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ที่ดูแลเด็กในบ้านพักดังกล่าว สำหรับภาพเด็กถูกมัดมือมัดขานั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในวันที่ 30 เม.ย. โดยพยานยืนยันว่า คนที่มัดเป็นเด็กโต 2 คน ซึ่งอยู่ในบ้านหลังนั้นจริง

สาเหตุที่ลงโทษ เนื่องจากเด็กกลุ่มดังกล่าวก่อเหตุทะเลาะกัน และหนีออกจากสถานที่พักอาศัย จำนวน 9 คน จึงถูกเรียกตัวกลับมาลงโทษที่บ้าน โดยรุ่นพี่จับมัดมือคู่กัน แต่ต่อมาเด็กหญิงคนดังกล่าวปวดท้องเข้าห้องน้ำ รุ่นพี่จึงได้ช่วยอุ้มพาไป โดยมีรุ่นพี่อีกคนถ่ายรูปเก็บไว้ ซึ่งครูพี่เลี้ยง (ผู้ถูกกล่าวหา) ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ลงมือทำ แต่ยอมรับว่า เคยข่มขู่เด็ก ว่าถ้าทะเลาะกัน หรือออกนอกพื้นที่ที่กำหนด จะต้องถูกมัด และต้องถูกลงโทษในลักษณะนี้ เด็กรุ่นพี่ทั้งสองคน จึงทำตามคำสั่งพี่เลี้ยงที่เคยพูดไว้

ภายหลังแม้ครูพี่เลี้ยงมาเห็นเด็กถูกมัดมือมัดเท้า แต่ก็ไม่ได้ให้การช่วยเหลือ หรือตักเตือน กลับสนับสนุนว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ทาง พม.ได้ให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินคดีแล้ว ส่วนภาพที่เด็กไปนอนอยู่ในห้องน้ำนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นจริง ภายในห้องน้ำชั้น 2

โดยครูพี่เลี้ยงผู้ถูกกล่าวหานั้นได้ให้การว่า เป็นกติกาของตัวเอง หากเด็กคนใดมีการขับถ่ายเลอะที่นอนในช่วงกลางคืน ก็จะถูกลงโทษโดยการให้ไปนอนในห้องน้ำ จนกว่าจะหยุดปัสสาวะรดที่นอน จึงจะให้กลับมานอนที่เดิม เพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้เด็กคนอื่นๆ กระทำตาม

ส่วนกรณีที่เด็กหลายคนถูกลงโทษให้ลงไปแช่ในน้ำ ครูพี่เลี้ยงก็ยอมรับว่า เป็นกติกาที่ถูกกำหนดขึ้นในการที่จะลงโทษเด็กเล็ก หากมีอาการดื้อหรือซุกซน แต่จากการตรวจสอบที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีเด็กคนใดเคยโดนลงโทษด้วยวิธีดังกล่าว หากมีพยานหลักฐาน ก็จะมีการดำเนินคดีด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ทางตำรวจยังไม่ได้ปักใจเชื่อในคำให้การทั้งหมด อยู่ที่พยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งวันนี้ก็ได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบที่เกิดเหตุ รวมไปถึงจะได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ ภายในสถานสงเคราะห์ ในส่วนของผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ ถ้าหากมีพยานหลักฐานชี้ชัดว่ามีการปล่อยปละละเลย หรือปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ ก็จะถูกดำเนินคดีมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนครูพี่เลี้ยงผู้ถูกกล่าวหา จะมีการดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 ความผิดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ และความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ส่วนข้อหาอื่นๆ ในเรื่องของการหน่วงเหนี่ยวกักขัง จะต้องดูพยานหลักฐานอีกครั้ง

ด้าน นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่า เบื้องต้นกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้สั่งการให้พี่เลี้ยงที่ก่อเหตุหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที พร้อมทั้งได้มีการแจ้งความดำเนินคดี และได้สั่งย้ายผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ดังกล่าว มาปฏิบัติราชการที่ ดย.ส่วนกลาง

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีทีมสหวิชาชีพ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด หากมีใครเกี่ยวข้องอีก ก็จะต้องดำเนินการเอาผิดเพิ่มเติม รวมถึงการรวบรวมข้อมูลจากเด็กทั้งหมดที่อยู่ในความดูแล เบื้องต้นที่ได้รับรายงาน มีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง ประมาณ 9 คน ช่วงอายุ 6 ปีขึ้นไป

ได้มีการคัดแยกเด็กดังกล่าวออกจากพื้นที่ มาอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ใกล้เคียงชั่วคราว เพื่อคลายความวิตกกังวล ส่งนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาประเมินและฟื้นฟูเยียวยาจิตใจเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง ส่วนเด็กอื่นๆ ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ มีทั้งหมดรวม 169 คน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในความดูแลโดยปกติ ส่วนพี่เลี้ยงที่ทำร้ายเด็กเบื้องต้น มีรายงานคนเดียว อายุเกือบ 30 ปี เป็นอัตราจ้างเหมา ซึ่งอยู่มานานเกิน 12 ปี

ทั้งนี้ ได้เรียกประชุมด่วนผู้บริหารทุกกรม เพื่อปฏิรูปจัดระบบสถานสงเคราะห์ และสถานรองรับทั่วประเทศ ที่ดูแลผู้รับบริการทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการอย่างเร่งด่วน เป็นการเซตระบบใหม่ ให้มีมาตรฐานการดูแลผู้รับบริการ ปรับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

โดยจะให้มีการหมุนเวียนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ และหัวหน้าบ้านพักเด็กและเยาวชนในแต่ละพื้นที่ ที่ทำงานมานานเกิน 3 ปี เนื่องจากบางพื้นที่มีปัญหาการทำงานมานาน จนขาดความกระตือรือร้น ขาดความเอาใจใส่ รวมถึงจะต้องมีการประเมินและพัฒนาทักษะพี่เลี้ยงผู้ให้บริการเป็นระยะ ไม่ใช่ปล่อยให้จ้างเหมาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเกณฑ์ประเมิน หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ไม่มีมาตรการที่เข้มงวด ตนก็มีตัวชี้วัดที่จะดำเนินการ หากเกิดเหตุร้องเรียนที่ไหน และไม่มีมาตรการใดๆ ก็จะต้องย้ายอธิบดีที่รับผิดชอบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายอนุกูล กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเกิดเหตุร้องเรียนในสถานสงเคราะห์เอกชน พม.ก็กำชับมาตรการดูแลเข้มงวด แต่ครั้งนี้เกิดเหตุในสถานสงเคราะห์ของรัฐเอง ต้องยอมรับผิดและขอโทษสังคมอย่างยิ่ง เพราะผู้ปกครองคาดหวังในหน่วยงานรัฐ ที่จะช่วยเหลือดูแลเด็กอย่างดี แต่กลับมาก่อปัญหา จึงต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งระบบโครงสร้าง รวมถึงบุคลากร นำวิกฤติเป็นโอกาสที่จะต้องเคลียร์ทั้งระบบให้ชัดเจน.

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thanya Wannasathit