วัดบางกุ้ง แจงเหตุ "อูฐ" งับหูนักท่องเที่ยวแหว่ง เผยอูฐมีนิสัยเชื่อง ไม่เคยมีพฤติกรรมกัดใคร เตรียมสร้างรั้วตาข่ายให้สูงขึ้นเพื่อความปลอดภัย
วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 มีรายงานว่า จากกรณีผู้ใช้ TikTok @sukpiriya ได้เผยคลิป อูฐงับหูสามีแหว่ง ต่อมาทราบว่า ผู้เสียหายคือ นายวรฉัตร บริบูรณ์ อายุ 32 ปี อาชีพขายส้มโอ กล่าวว่า สวนสัตว์แห่งนี้ ตนชอบพาลูกๆ ไปเที่ยวหลายรอบ เพราะใกล้บ้าน และทราบข่าวอูฐกัดคนมาบ้าง จึงระมัดระวังอยู่แล้ว
แต่วันเกิดเหตุเป็นช่วงเย็นวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ตนอุ้มลูกอยู่ข้างซ้าย เพื่อให้อาหารควาย และคอยระมัดระวังลูก จู่ๆ มีเสียงดังกรุบที่ศีรษะด้านขวา ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พอจับหูขวาดูก็พบว่ามีเลือดออก แล้วเห็นอูฐอยู่ จึงมั่นใจว่าถูกอูฐกัดหู
จากนั้นจึงรีบไปล้างแผล จึงเห็นว่าหูแหว่งไปส่วนหนึ่ง จึงขอฝากเตือนนักท่องเที่ยวขอให้ระมัดระวังเวลาให้อาหารสัตว์ โดยเฉพาะอูฐ ที่คอยาว จึงควรระมัดระวังมากขึ้น และขอให้ทางวัดกั้นไม่ให้อูฐยื่นคอออกมา และทำป้ายเตือนให้ชัดเจน เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อูฐกัดหูขึ้นมาแบบนี้อีก
...
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุภายในวัดบางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมกับ นายณัฐภัทร์ เอมอ่อน นายอำเภอบางคนที พบสัตว์ป่าประมาณ 10 ชนิด โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้อาหารสัตว์ป่าประมาณ 10 ชนิด เช่น แพะ, แกะ, จระเข้, กวางดาว, หมูป่า, อีเห็น, นกยูง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาให้อาหารสัตว์กันตามปกติ
นายสมศักดิ์ แซ่โค้ว ผู้ดูแลวัดบางกุ้ง บอกว่า สัตว์ในสวนสัตว์แห่งนี้มีใบอนุญาตทุกตัว ส่วนอูฐตัวนี้ชื่อเด้าเด๊า นำมาเลี้ยงเมื่ออายุไม่ถึง 1 ปีปัจจุบันอายุ 14 ปีแล้ว มีนิสัยเชื่อง ไม่เคยมีพฤติกรรมกัดใคร แต่ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวบางส่วนต้องการภาพสวยงามในลักษณะเซลฟี่จะหันหลังให้อูฐพร้อมกับส่งผักบุ้งให้อูฐกิน เมื่อยังไม่ได้ภาพที่ถูกใจก็จะชักผักบุ้งออก ทำให้อูฐเกิดความสับสน นอกจากนี้คนที่เซลฟี่ก็อยู่ในลักษณะหันหลังให้อูฐ จึงมองไม่เห็นอูฐเข้ามาใกล้ๆ
ส่วนกรณีนี้นักท่องเที่ยวมายื่นผักบุ้งให้อาหารควายที่อยู่ใกล้กับอูฐ ซึ่งอูฐเขาคงนึกว่าจะมาให้เขาด้วยจึงโน้มคอมางับ แต่ดันมางับโดนหูของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุบัติเหตุ สัตว์เขาไม่รู้เรื่อง
อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปจะเปลี่ยนป้ายเตือนให้ใหญ่และชัดเจนมากขึ้น และทางวัดจะสร้างรั้วตาข่ายให้สูงขึ้นเพื่อไม่ให้อูฐเอาหัวออกมากินอาหารได้ จะทำช่องขนาดเล็กไว้พอให้อาหารได้ อูฐจะได้ไม่นำศีรษะออกมากินอาหารข้างนอกอีก.