สาวท้องเล่าประสบการณ์เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหยิบยาให้ผิด กินยาชาไป 2 ขวด ปากพูดไม่ได้ ตาลืมไม่ได้ เวียนหัว ร่างกายกระตุก อาการแย่จนยอมรับว่ากลัวตาย
วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 มีรายงานว่า ทางแฟนเพจ อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 6 ได้เปิดเผยเรื่องราวอุทาหรณ์จากหญิงตั้งครรภ์รายหนึ่ง มีนัดเจาะเลือดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.จันทบุรี แต่โรงพยาบาลกลับหยิบยาชามาให้กิน
โดยมีข้อความระบุว่า ชีวิตคนไข้ 1 ชีวิตนะ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ข้อเท็จจริงเกิดได้อย่างไร สาธารณสุขจังหวัดต้องตรวจสอบ แล้วมีมาตรการการแก้ไขป้องกันที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีกไหม #จันทบุรี
เราท้อง 37+3 วีก เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 มีนัดเจาะเลือดตรวจเบาหวาน ตรวจต่างๆ นานา แล้วต้องกลืนน้ำตาล เจ้าหน้าที่เขาก็เรียกให้ไปรับขวดยาเหมือนขวดน้ำตาลมากิน เราก็ดูดไปละคือมันขมแล้วชาที่ปากที่คอ เลยหยุดกินแป๊บนึง ในใจคิดว่าเราคงมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า เขาถึงเอายาขมๆ มาให้กิน คือไม่ได้คิดว่ามันอันตราย เพราะว่ามา รพ.ไม่ได้คิดว่าจะเจอความสะเพร่าแบบนี้
แล้วคือเขาเรียกชื่อเราเข้าไปตรวจ เราบอกว่ายังกินไม่หมดค่ะ มันขม แต่ไม่รู้ว่าเขาได้ยินหรือเปล่า ด้วยความที่อยากกลับไวๆ ก็เลยกลั้นใจกินจนหมด 2 ขวด แล้วเดินไปบอกเขาว่ากินหมดแล้ว แล้วพยาบาลก็เรียกเข้าห้องตรวจฟังเสียงหัวใจลูกพอดี เราเลยถามว่าหมอเปลี่ยนยาเหรอคะ ทำไมมันขม แต่เขาตอบว่าไม่ได้เปลี่ยนนะ กินน้ำตาลต้องหวานสิ เราเลยบอกว่าเรากินมันขม แล้วก็ชาปากชาคอ เขาเลยให้เราไปหยิบขวดมาดู
...
สรุปคือมันไม่ใช่น้ำตาล แต่มันคือยาชาที่เบิกมาเพื่อจะเอาไว้ฝังเข็มยาคุม แล้วเขาให้นั่งรอ ประมาณ 10 นาที คือนั่งไม่ได้ ตาจะปิด เวียนหัว พอเขาพยุงไปนอนคือยามันออกฤทธิ์แรงมาก ปากพูดไม่ได้ ตาลืมไม่ได้ แต่รู้สึกอยู่ตลอด แต่ขยับไม่ได้เลย
เริ่มเวียนหัวแบบบ้านหมุนราวๆ 20 นาทีได้ มือเท้ากระตุกตลอด ความดันขึ้น จนต้องวัดคลื่นหัวใจ พอสักพักเริ่มหายใจไม่ออก ร่างกายเริ่มกระตุกรุนแรงขึ้น ขาดอากาศไปแป๊บนึง ตอนนั้นคือในตาที่หลับมันมืดดำไปเลย พยายามอ้าปากให้มีอากาศเข้า สติเริ่มหาย แต่มีอากาศเฮือกสุดท้ายที่หายใจเข้า ตอนที่กรี๊ดออกมา ตอนที่กรี๊ดคือมันควบคุมไม่ได้เลย มันคือลมหายใจสุดท้ายจริงๆ ในตอนนั้น พอได้หายใจเข้าอีกครั้งคือแบบน้ำตาไหลเลย กลัวตัวเองตาย กลัวลูกในท้องตาย ตอนนี้ยังตกใจไม่หายเลย มันคือเฮือกสุดท้ายจริงๆ
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มองว่าเรื่องนี้ทางโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ รวมทั้งอยากให้มีการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของคนไข้ด้วย