เนื่องในโอกาสที่วันขึ้นปีใหม่แบบไทยๆของเราเวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันนี้ (13 เมษายน 2566) ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่ท่านผู้อ่านเคารพนับถือ จงดลบันดาลให้ทุกๆท่านประสบแต่ความสุขความเจริญ ปราศจากทุกข์ ปราศจากโรค ปราศจากภัยใดๆทั้งสิ้นไปตลอดปีใหม่นี้เทอญ

เกิดมาเป็นคนไทยเราก็ดีอย่างนี้แหละครับได้กำไรกว่าคนชาติอื่นๆอีกหลายชาติ เพราะเรามีปีใหม่อย่างน้อย 2 หน คือปีใหม่แบบสากลทั่วไป วันที่ 1 มกราคม และปีใหม่แบบไทยๆคือ เทศกาลสงกรานต์ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนเป็นต้นไป

ทำให้เรามีโอกาสได้รับคำอวยพรถึง 2 หน และขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะอวยพรให้บุคคลอื่นๆที่เรารักเคารพได้ 2 หนเช่นกัน

เท่าที่มีการบันทึกกันไว้ ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีร่วมของผู้คนในย่านอุษาคเนย์ โดยน่าจะมีต้นแบบมาจากอินเดีย นอกจากประเทศไทยแล้ว ชาวมอญ พม่า ลาว กัมพูชา ก็มีการเฉลิมฉลองในเทศกาลสงกรานต์ และถือว่าเป็นเทศกาลปีใหม่เช่นเดียวกัน

สำหรับของไทยเรามีหลักฐานว่าเล่นสงกรานต์กันมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย จนถึงกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ พ.ศ.2432

จนกระทั่ง พ.ศ.2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2483 เป็นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศไทยเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก

ส่งผลให้คนไทยได้กำไรมีปีใหม่ให้ฉลองถึง 2 ครั้ง ด้วยประการฉะนี้...

นอกจากวันที่ 13 เมษายน จะเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบไทยๆของเราแล้ว ท่านผู้อ่านคงจำได้เมื่อ พ.ศ.2525 คณะรัฐมนตรีซึ่งมี “ป๋าเปรม” เป็นนายกฯ รับข้อเสนอของ สหกรณ์การประมงจังหวัดสมุทรสาคร ให้รัฐบาลกำหนดวัน ประมงแห่งชาติ ขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ประกอบอาชีพการประมงทั้งนํ้าเค็มและนํ้าจืดทั่วประเทศ

...

กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน (ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีการปล่อยนกปล่อยปลากันมากในวันนี้) ให้เป็น วันประมงแห่งชาติ ควบคู่ไปด้วย

ต่อมาใน พ.ศ.2549 เกือบ 22 ปีให้หลัง กระทรวงเกษตรฯจึงทำเรื่องขอเปลี่ยนวัน ประมงแห่งชาติ ให้เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ด้วยเหตุผลที่ว่า 13 เมษายนเป็นฤดูแล้ง กรมประมงไปจัดส่งเสริมการปล่อยพันธุ์ปลาในวันดังกล่าว ปรากฏว่าปลามักจะตายหมด

ต่างกับ 21 กันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนและเป็นช่วงต้นฤดูน้ำหลากเหมาะแก่การปล่อยพันธุ์ปลา และที่สำคัญยังเป็นวัน สถาปนากรมประมง โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 อีกด้วย

รัฐบาลซึ่งมี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น มีมติอนุมัติตามที่กรมประมงเสนอ ทำให้ “วันประมงแห่งชาติ” เปลี่ยนจาก 13 เมษายน เป็น 21 กันยายน นับจากนั้นเป็นต้นมา

ในยุคป๋าเปรมอีกแหละครับ น่าจะประมาณปี 2525 มีมติอนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุชักเริ่มมีมากขึ้น และครอบครัวไทยเริ่มแยกตัวออกไปเป็นครอบครัวเล็กๆมากขึ้น ต่อไปผู้สูงอายุอาจขาดคนดูแล

จึงกำหนดให้มีวันสูงอายุแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และเพื่อการยกย่องแสดงความกตัญญูกตเวทีสืบไป

ในฐานะที่ผมเป็นผู้สูงอายุด้วยคนหนึ่ง ขอขอบคุณรัฐบาลป๋าเปรมที่เล็งเห็นการณ์ไกลในเรื่องนี้ และที่น่าชื่นใจก็คือทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็ให้ความเคารพนับถือต่อผู้สูงอายุให้เกียรติแก่ผู้สูงอายุอย่างดียิ่ง

ยกเว้นผู้สูงอายุที่ไปเล่นการเมือง ซึ่งเป็นของธรรมดาที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูก “ถอนหงอก” จากพรรคคู่แข่ง หรือฝ่ายตรงข้าม อยู่บ้าง ก็ต้องอดทนนะครับลุงๆ!

ก่อนจบคอลัมน์วันนี้ นอกจากจะอวยพรในวันปีใหม่ไทยดังที่ผมเริ่มไว้ตั้งแต่บรรทัดแรกแล้ว ก็ขอถือโอกาศอวยชัยให้พรแก่ผู้สูงอายุ (หรือท่าน ส.ว.) ของประเทศไทย จำนวนกว่า 12.1 ล้านคน หรือ 18.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรประเทศ (ซึ่งรวมทั้งตัวผมด้วย)

ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ นะครับ จะได้แข็งแรง อายุยืนอยู่ฉลอง “วัน ส.ว.แห่งชาติ” ต่อไปได้อีกหลายๆปี.

“ซูม”