นับว่าเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาทันที “เมื่อมีการเปิดเผยเรตค่าจ้าง ทนายความหลักแสนบาทต่อคดี” เขย่าให้สังคมต้องตื่นขึ้นมาจับจ้อง “กระบวนการยุติธรรมที่มีต้นทุนสูง” ทั้งค่าใช้จ่ายทางตรงและทางอ้อมอีกหลายรายการให้ “ประชาชน” ต้องแบกรับโดยไม่มีทางเลือก

สิ่งนี้เป็นกำแพงอุปสรรคกีดกั้นประการสำคัญในระหว่าง “คนจน” ที่จะมีโอกาสได้รับความยุติธรรมน้อยกว่า “คนมีรายได้สูง” จนบางคนยอมสละสิทธิที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาคที่ถูกเปิดเผยผ่านงานเสวนาความยุติธรรมมีราคาที่ต้องจ่ายโดยมี ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส TDRI ให้ข้อมูลว่า

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับ “ราคา” เป็นเครื่องมือที่สังคมใช้กำหนดพฤติกรรมการบริโภคเช่นเดียวกับ “การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” จะมีราคาอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับหลัก 3 กรอบแนวคิด คือ แนวคิดแรก... “หลักทางเศรษฐศาสตร์” มองกระบวนการยุติธรรมควรมีราคาที่สมดุลไม่ถูก หรือแพงมากเกินไป

แล้วต้องดูจากผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างคุ้มราคาที่สุด เพราะการมีคดีความมากเท่าใดต้นทุนการฟ้องคดีก็เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่อยากให้สูงเกินไปด้วยต้นทุนนี้ท้ายที่สุด “ก็เป็นภาษีของประชาชน” ดังนั้น ถ้าข้อพิพาทมูลค่าแพงควรนำมาฟ้องคดี หากเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ไม่อยากให้ใช้การฟ้องคดีที่อาจไม่คุ้มค่าบริการ

...

แนวคิดที่สอง...“ด้านบัญชี” เน้นให้ตลาดเป็นตัวกำหนดเก็บค่าบริการเพิ่มประสิทธิภาพในดำเนินงาน แต่จะมีคนไม่กี่คนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้น แนวคิดที่สาม...“ด้านสิทธิมนุษยชน” ให้บริการไม่เสียค่าใช้จ่ายเพราะมองว่า “ราคาเป็นอุปสรรค” แต่แนวคิดนี้อาจทำให้เรื่องเล็กน้อยนำมาเป็นคดีกันเต็มไปหมด

เหตุนี้ราคาในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม “ต้องสมดุล” หากแพงเกินไปก็เป็นอุปสรรคการเข้าถึงอีก

ประการต่อมาหากพูดถึง “ต้นทุนสำหรับความยุติธรรม” ถูกจำแนกเป็น 2 ฝ่าย กล่าวคือ กลุ่มแรก... “ต้นทุนค่าใช้จ่ายของรัฐ” ตามงานวิจัยนำต้นทุนในปี 2551 มาเปรียบเทียบกับปี 2560 เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้าน ค่าใช้จ่ายของภาครัฐจากต้นทุนในชั้นพนักงานสอบสวน 3.9 หมื่นบาทต่อคดีเพิ่มขึ้นเป็น 8.2 หมื่นบาท

ชั้นพนักงานอัยการ 8.8 พันบาทต่อคดีเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นบาท ชั้นศาล 2 หมื่นบาทต่อคดีลดเหลือ 1.9 หมื่นบาท ศาลอุทธรณ์ 5.8 พันบาทต่อคดีลดเหลือ 4.7 พันบาท ศาลฎีกา 1.9 พันบาทต่อคดีลดเหลือ 1.5 พันบาท ฉะนั้น ปี 2550 ต้นทุนค่าใช่จ่ายคดีเข้าสู่การพิจารณาในศาลเฉลี่ยรวม 7.6 หมื่นบาทต่อคดีเพิ่มขึ้นในปี 2560 จำนวน 1.25 แสนบาท

ฝ่ายที่สอง...“ต้นทุนค่าใช้จ่ายของประชาชน” อันเกิดขึ้นทั้งฝั่งผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นค่าใช้จ่ายจริง หรือค่าเสียโอกาส ไม่ว่าจะเป็นค่าเสียเวลา ค่าสูญเสียรายได้ที่ขาดหายไป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการชั้นการสอบสวน กระบวนการสั่งคดี กระบวนการชั้นศาล และกระบวนการบังคับโทษนั้น

ตัวอย่างต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ค่าเดินทางไปแจ้งความ 100-2,000 บาทต่อครั้ง ค่าเดินทางไปศาล 140-2,000 บาทต่อครั้ง ค่าพิสูจน์หาหลักฐาน 6,500-13,000 บาท ค่าพิสูจน์เอกสาร 10,000-50,000 บาท ค่าขอหลักฐานกล้องวงจรปิด 1,500-3,500 บาท ค่าขอคำปรึกษาทางกฎหมาย 10-2,100 บาท

โดยเฉพาะค่าทนายความแต่ละประเภทใช้เวลาพิจารณาคดีเฉลี่ย 209.88 วัน 131.49 วัน และ 119.49 วัน เสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 9.4 หมื่นบาท 5.8 หมื่นบาท และ 5.3 หมื่นบาท ในคดียาเสพติดพิจารณา 14-22 วัน 4,000-10,000 บาท คดีทรัพย์สินพิจารณาเฉลี่ย 59 วัน 2.6 หมื่นบาท คดีจราจรพิจารณาเฉลี่ย 1 วัน 400 บาท

ราคานี้เป็นราคากลางไม่ใช่ราคาตลาดที่หากทนายความเก่งมีฝีมือค่าจ้างสูง 10 ล้านบาทก็มี

ถ้าเป็นผู้กล่าวหา “ราคาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถูกที่สุด” กรณีแจ้งความตำรวจโดยไม่มีการจ้างทนายความอย่างเช่น คดีชีวิตอยู่ที่ 707 บาท คดีเพศ 673 บาท คดีเกี่ยวกับทรัพย์ 630 บาท ค่าใช้จ่ายอ้อม 500-600 บาท แต่มีข้อสังเกตเห็นว่า “ต้นทุนที่สูง” มักเป็นค่าใช้จ่ายจ้างทนายความ และกระบวนการยุติธรรม

ถัดมาคือ “ผู้ถูกกล่าวหา” มีค่าใช้จ่ายทางตรง เช่น คดีชีวิตร่างกาย 60,000-140,000 บาท ถ้ามีทนาย 100,000-240,000 บาท คดีเพศ 57,000 บาท ถ้ามีทนาย 110,000 บาท คดียาเสพติด 50,000-144,000 บาท มีทนาย 60,000-150,000 บาท คดีทรัพย์ 77,000 บาท มีทนาย 110,000 บาท และค่าสูญเสียโอกาส 30,000-83,000 บาท

“สิ่งนี้ทำให้ขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแพง ดังนั้น อยากสรุปว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้กล่าวหามีราคาถูกอยู่แล้วยกเว้นค่าทนายความที่ยังสูงส่วนผู้ถูก กล่าวหามีค่าใช้จ่ายความยุติธรรมแพงทุกด้าน ฉะนั้น ควรมีกลไกบางอย่างเข้ามาแทรกลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม” ดร.นณริฏว่า

และคำถามต่อไปมีว่า “ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั่วถึงเท่าเทียมกัน...?” เรื่องนี้ถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้นสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบางขั้นตอน เช่น ระบบซูม ระบบแจ้งความผ่านออนไลน์ การพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโหลดเอกสารผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

หากในแง่ “ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม” ด้วยคนในสังคมไทยมีฐานะแตกต่างกันมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาที่ในภาษาอังกฤษอาจแปลได้ว่า “ค่าปรับเป็นค่าธรรมเนียม” อย่างเช่น คนขับรถหรูจอดรถในที่ห้ามจอดแล้ววางเงินไว้จ่ายค่าธรรมเนียม เรื่องนี้ควรปรับแนวคิดใหม่ต้องแก้ปัญหา pain point (จุดอ่อน)

ยกตัวอย่าง “ราคาต้องจ่าย และเวลา” ถ้าถามคนจนมักยอมจ่ายเวลา “เพราะไม่มีเงินยอมทำได้แม้ติดคุกแทนเพื่อปิดคดี” แต่สำหรับคนรวยแล้วยินดียอมจ่ายเงิน ฉะนั้นบทลงโทษทางเศรษฐศาสตร์ต้องพลิกกลับกัน คือ ถ้าให้คนจนจ่ายเงินจะไม่มีใครกล้ากระทำผิด ในส่วนคนรวยต้องให้จ่ายแบบลักษณะทำให้เสียเวลานานๆ

เช่นเดียวกับ สิรินทิพย์ สมใจ ทนายความและนักวิชาการอิสระ Shero Thailand บอกว่า การเป็นทนายความอิสระในคดีความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เห็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ประสบเหตุ เช่น ค่าเดินทาง ที่พักอาศัยระหว่างที่ต้องเดินทางจากสถานที่เกิดเหตุ และสถานที่หลบภัย

ทั้งมีกรณีที่ต้องการหลีกหนีจากผู้ก่อเหตุ ค่าเสียโอกาสสำหรับผู้กำลังเรียนหนังสือ หรือผู้ต้องลางาน แม้แต่การแจ้งความส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในพื้นที่เกิดเหตุ ล้วนมีต้นทุนค่าเดินทาง ค่าที่พักอาจจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า เพราะผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวต้องการที่พึ่งทางใจให้รู้สึกปลอดภัยจึงต้องเดินทางร่วมกับผู้อื่น

มนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ ผอ.สำนักงานกองทุนยุติธรรม บอกว่า นโยบายกระทรวงยุติธรรมมีแนวคิดสร้างกลไกเข้าแทรกแซงการช่วย “ผู้ไม่มีกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยตนเอง” ทั้งผู้ฟ้องร้องคดี และผู้ถูกกล่าวหาในขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดีไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างทนายความ ค่าฤชาธรรมเนียมคดีแพ่ง

ทั้งยังช่วยเงินประกันขอปล่อยตัวชั่วคราว “ผู้ต้องหาคดีอาญา” กำหนดค่าทนายความไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อคดี ค่าตอบแทนทนายที่ปรึกษาประจำวัน 1 พันบาท ค่าปรึกษาด้านกฎหมาย 20 บาทต่อคดี ตามราคากลางไม่ใช่ราคาตลาด รวมถึงชั้นอุทธรณ์ หรือชั้นฎีกาช่วยเหลือ 2 หมื่นบาทต่อคดี และการชั้นบังคับคดี 3 หมื่นบาทต่อคดี

ต่อมา “การช่วยเหลือประชาชน” มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 หมื่นบาทต่อราย รวมถึงการปล่อยตัวชั่วคราวเฉลี่ย 4 แสนบาทต่อราย แต่หากถูกควบคุมตัวแล้วไม่มีความผิด “กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ” จะให้เงินเยียวยา ส่วนหนึ่งแล้วมี “กองทุนยุติธรรม” ก็จะให้เสริมกรณีเป็นผู้ต้องหาเฉลี่ยรายละ 1 แสนบาท

จริงๆแล้ว “คนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะไม่ใช่คนยากไร้” มักเป็นผู้มีฐานะปานกลางร้อยละ 70-80 เพราะการช่วยเหลือนั้นเราเน้นดูภาระค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจแต่ละคน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนจน หรือคนรวยเมื่อยื่นคำร้องเข้ามาต้องมีกระบวนการพิจารณาตรวจสอบ ทำให้แต่ละขั้นตอนจะใช้เวลานานกลายเป็นต้นทุนสูงด้วย

สิ่งนี้คือ “การให้โอกาสทุกคนสามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเข้าพิสูจน์ความจริงเบื้องต้น แต่จากนั้นจะไม่ได้มีการช่วยเหลืออีก

นี่คือ “ต้นทุนการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ไม่ใช่มีเฉพาะตัวเงินแต่ยังมีค่าเสียเวลาเสียโอกาสที่ประชาชนแบกรับโดยไม่มีทางเลือกเป็นอุปสรรคการเข้าถึงความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมกันทุกวันนี้.