GISTDA เผยจุดความร้อนทั่วประเทศวันที่ 6 เม.ย. 66 พุ่ง 3 พันกว่าจุด พบ "เชียงใหม่" นำต่อเนื่อง 302 จุด ขณะที่ PM 2.5 ภาคเหนือยังวิกฤติ

วันที่ 7 เมษายน 2566 มีรายงานว่า GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 6 เมษายน 2566 ไทยพบจุดความร้อน 3,280 จุด โดยมีเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ยังคงนำสูงสุดอยู่ที่ 9,653 จุด, พม่า 7,161 จุด, เวียดนาม 1,516 จุด, กัมพูชา 767 และมาเลเซีย 17 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ยังคงพบในพื้นป่าอนุรักษ์มากที่สุดถึง 1,951 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 879 จุด, พื้นที่เกษตร 191 จุด, พื้นที่เขต สปก. 129 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 122 จุด, และพื้นที่ริมทางหลวง 8 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ เชียงใหม่ 320 จุด, เชียงราย 289 จุด, และ แม่ฮ่องสอน 281 จุด

ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 เช้าวันนี้ก็ทางภาคเหนือยังคงน่าเป็นห่วงมากเช่นเคย เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ผ่านมาพบหลายจังหวัดมีค่า PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง และมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่จังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน เชียงใหม่ พะเยา ที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดกว่า 300 ไมโครกรัม หรือกว่า 6 เท่าของเกณฑ์ค่ามาตรฐาน
ตามด้วย ลำพูน ลำปาง หนองคาย เลย แพร่ เป็นต้น ควรสวมหน้ากากอนามัย และงดกิจกรรมภายนอกอาคารสถานที่เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา ในขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบค่าคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ

...

ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th หรือ ติดตามข้อมูลจาก https://fire.gistda.or.th/dashboard.html และควรติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น"